Pay It Forward ตอนที่ 3 จดหมายจากความรู้สึกของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว
HIGHLIGHTS:
- แรงบันดาลใจในเรื่อง สัจจะธรณี มาจากความเชื่อของโขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ที่คิดว่า ‘ดิน’ อยู่เหนือความขัดแย้ง ไม่เคยโกหกและไม่เคยแบ่งฝ่ายทางการเมือง
- สำหรับโขม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจในทุกเหลี่ยมมุมของการเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด
- โขมเชื่อว่า ‘ของขวัญ’ ที่ดีที่สุด ที่ทุกคนสามารถมอบตอบแทนให้กับพระองค์ได้ไม่ใช่การพูด แต่เป็นการเข้าใจในคำสอนที่พระองค์มอบไว้ให้อย่างถ่องแท้ และน้อมนำมาปฏิบัติตามให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง
ตลอดชีวิตของการเป็น ‘พ่อ’ ของคนไทยทั้งแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมอบ ‘ของขวัญ’ ให้กับพสกนิกรชาวไทยเอาไว้มากมายผ่านทางพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของพระองค์ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ค่ายหนังดังอย่าง ‘สหมงคลฟิล์ม’ ได้เลือกส่งต่อแรงบันดาลใจที่ได้รับนั้นกลับสู่ประชาชนของท่านอีกครั้งผ่านโปรเจกต์ ‘ของขวัญ’
โปรเจกต์ ‘ของขวัญ’ ประกอบด้วยหนังสั้น 4 เรื่อง จาก 4 ผู้กำกับฝีมือดี ประกอบด้วย นนทรีย์ นิมิบุตร, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, ก้องเกียรติ โขมศิริ และชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่จะนำเสนอความประทับใจที่มีต่อรัชกาลที่ 9 ในมุมมองของตัวเอง ทั้งหมดเพื่อเป็นของขวัญและแรงบันดาลใจให้คนไทยทุกคนได้ดำรงชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพราะถึงแม้พระองค์จะจากเราไปแสนไกล แต่คำสอนและคุณความดีที่พระองค์ทรงสร้างไว้ จะยังอยู่ในใจของคนไทยทุกคนไปตราบนานเท่านาน
“ดินไม่มีเส้นสมมติ ดินไม่มีฝั่งการเมือง คอนเซปต์ของหนังเรื่องนี้มาจากพระนามของพระองค์ คำว่า ‘ภูมิพล’ ที่แปลว่า ‘พลังแผ่นดิน’ ผมเชื่อว่าดินดีก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ดินดีให้ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงากับคนทุกฝ่าย ทุกสี ดินดีให้ข้าว ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์การเมืองแบบไหน คุณก็มีข้าวให้กิน”
สัจจะธรณี กำกับโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ
สัจจะธรณี เล่าเรื่อง หญิงสาวคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกขัดแย้งหลายๆ อย่าง พ่อของเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ถูกทหารตามล่าตัว เธอตั้งคำถามกับหลายอย่างในชีวิต และตัดสินใจออกเดินทางเพื่อตามหารากเหง้าของตัวเอง โดยที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของพ่อมาก่อน สุดท้ายคำตอบที่เธอได้รับคือความจริงที่ว่าพ่อของเธอที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้การร้ายกำลังทำอยู่ในเป็นภารกิจเพื่อ ‘ดิน’ ที่ยิ่งใหญ่กว่าความขัดแย้งทั้งปวง
โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ตั้งใจนำเรื่อง ‘ดิน’ หนึ่งในปัจจัยธรรมชาติที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญมากที่สุด มาเป็นแรงบันดาลใจการบอกเล่าถึงแก่นแท้ของคำสอนของพระองค์ ในยุคที่ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า ‘รักในหลวง’ แต่น้อยคนนักที่พร้อมจะนำคำสอนและ ‘ของขวัญ’ ที่พระองค์ทรงมอบเอาไว้ให้มาปฏิบัติตามได้อย่างแท้จริง
สัจจะของ ‘ดิน’ ที่ไม่เคยโกหก
ดินไม่มีเส้นสมมติ ดินไม่มีฝั่งการเมือง คอนเซปต์ของเรื่องนี้มากจากพระนามของพระองค์ คำว่า ‘ภูมิพล’ ที่แปลว่า ‘พลังแผ่นดิน’ ผมเชื่อว่าดินดีก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ดินดีให้ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงากับคนทุกฝ่าย ทุกสี ดินดีให้ข้าว ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์การเมืองแบบไหน คุณก็มีข้าวให้กิน
ผมได้แรงบันดาลใจจากการการที่นักข่าวฝรั่งสัมภาษณ์พระองค์ในยุคที่ประเทศเรามีความขัดแย้งเรื่องคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น นักข่าวคนนั้นถามว่า ที่พระองค์พยายามพัฒนาประเทศเพื่อให้คอมมิวนิสต์ลดลงหรือเปล่า คำตอบของพระองค์คือ “ไม่ใช่” พระองค์ไม่ได้พัฒนาเพราะฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่พระองค์ทรงเชื่อว่า ถ้าทำให้ความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น นี่คือของขวัญที่พระองค์ทรงมอบให้เป็นของขวัญที่ยั่งยืนมากๆ ไม่ใช่ของขวัญที่แกะกล่องออกมาแล้วดีใจแค่ช่วงสั้นๆ แล้วลืมไป
การเข้าใจดินถึงแก่นแท้แห่งธรรมชาติ
จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องดินอย่างเดียว เพราะพระองค์ทรงพัฒนาทุกอย่างทั้งดิน น้ำ อากาศ แสงอาทิตย์ และทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติก็ไม่เคยโกหก เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำโปรเจกต์ที่พูดจาโลกสวย เต็มไปด้วยความคิดอุดมคติ หรือพูดถึงพระองค์ในเชิงอภินิหาร เราพูดสิ่งที่จริงที่สุด เพราะพระองค์ทรงทำทุกอย่างอย่างจริงที่สุด ลดทอนกระบวนการที่ฟุ้งเฟ้อเวิ่นเว้อออกไป เพื่อไปหาว่าแก่นแท้ที่สุดคืออะไรแล้วลงไปจัดการเรื่องนั้นอย่างจริงจัง
อย่าง ‘โครงการแกล้งดิน’ ของพระองค์ คนที่จะแกล้งดินได้ต้องเป็นเซียนดิน รู้ว่าต้องปรับและปรุงอย่างไรให้ดินดีขึ้น ในขณะที่ทุกวันนี้เรามีปูนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ดินกลับมีน้อยลง เป็นอุปมาอุปไมยที่เปรียบเทียบให้กับหลายๆ สิ่งในทุกวันนี้ เราพยายามมีบ้าน มีตึก เราอยากทำการศิวิไลเซชัน พยายามพัฒนาทุกอย่างจากด้านนอก แต่จริงๆ เรากำลังเข้าใจคำนั้นผิด คำว่า ‘ศิวิไลซ์’ จริงๆ มันคือการเข้าใจรากเหง้าของเราและพัฒนา ซึ่งพระองค์แสดงออกถึงความเข้าใจนั้นผ่านทุกๆ พระราชกรณียกิจไว้หมดแล้ว
ผู้เป็นแรงบันดาลใจในทุกเหลี่ยมมุมของมนุษย์
เราจะเห็นว่าคนทำงานทุกวิชาชีพมักจะหาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่เกี่ยวกับสายงานตัวเองมาติดไว้ที่ผนังบ้าน ซึ่งแทบทุกวิชาชีพก็จะหาพระบรมฉายาลักษณ์แบบนั้นได้หมดเลย ทั้งตอนพระองค์ทรงดนตรี ทรงงานศิลปะ ทรงกีฬา ทรงพระแสงปืน ใส่ชุดทหาร ฯลฯ อย่างผมเป็นผู้กำกับหนังก็มีภาพของพระองค์ทรงกล้องวิดีโอ คิดดูว่าขนาดคนขับเวสป้าก็ยังมีภาพของรัชกาลที่ 9 ทรงเวสป้าอยู่เลย ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงทำให้ประชาชนเห็นว่า พระองค์เองก็เป็นมนุษย์ ทรงงานหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงดนตรี มีสุนทรียะในการใช้ชีวิต และถ่ายทอดส่งผ่านความสุขผ่านผลงานศิลปะให้กับทุกคนต่อไปได้ พระองค์ทรงเป็นต้นแบบในทุกเหลี่ยมมุมของมนุษย์จริงๆ
การต่อสู้กับตัวเองเพื่อผลงานส่งเสด็จฯ ที่ดีที่สุด
ช่วงแรกผมเกร็งเพราะคิดว่านี่คืองานใหญ่ เป็นงานส่งเสด็จฯ พระองค์ที่ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด เพราะในแง่วิชาชีพของผู้กำกับคนหนึ่งที่มีโอกาสทำสิ่งที่ตัวเองถนัด เพื่อนำเรื่องราวของพระองค์มาเป็นแรงบันดาลใจส่งต่อให้คนอื่น มันมีความกลัวว่าไม่ใหญ่ ไม่สมพระเกียรติของพระองค์ แต่สุดท้ายก็ใช้เวลา ได้เรียนรู้ว่า เราจะกลัวไปใย จะสมมติตัวเองขึ้นมาเพื่ออะไร ทำด้วยความผ่อนคลายและทำออกมาให้เต็มที่ที่สุด และเรามีทีมงานที่พอรู้ว่าเป็นโปรเจกต์เพื่อเทิดพระเกียรติก็พร้อมที่จะช่วยกันอย่างเต็มที่ ทุกคนทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือ จนทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ออกมาได้ เพราะทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันเพียงหนึ่งเดียวคือทำเพื่อพระองค์ให้ดีที่สุด
9 ศิลปินร่วมร้องเพลง #ส่งต่อความรัก
เพื่อมอบให้กับทุกคน ส่งต่อ #ของขวัญ จากพ่อ
และ 28ตุลาคมนี้ไปรับชมภาพยนตร์ #ของขวัญ ที่โรงภาพยนตร์ใกล้บ้านท่าน ฟรี !!!
Pass The Love Forward: ส่งต่อความรัก
ศิลปิน: บอย โกสิยพงษ์ feat. นภ พรชำนิ, โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร, คิว-สุวีระ บุญรอด, พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, นนท์-ธนนท์ จำเริญ, น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์, ก้อง ห้วยไร่-อัครเดช ยอดจำปา, ไข่มุก-รุ่งรัตน์ เหม็งพานิช และ แดน-วรเวช ดานุวงศ์
Introduction Taken from Canon in D Major by Johann Pachelbel
คำร้อง, ทำนอง และเรียบเรียง: บอย โกสิยพงษ์
Piano: โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร
Strings Programmed: ภูดินันท์ ดีสวัสดิ์มงคล
Vocal Produced: ต๋อง-อภิชา สุขแสงเพ็ชร
Mixed & Mastered: สุธี แสงเสรีชน
ภาพยนตร์ ของขวัญ ตอน ‘ดอกไม้ในกองขยะ’
ภาพยนตร์ ของขวัญ ตอน ‘เมฆฝนบนป่าเหนือ’