กินผักให้ได้ 400 กรัม ทำยากจริงหรือ?

0
298

โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม

ผ่านไปอย่างอบอุ่นสำหรับงาน 15 ปี สสส. “การเดินทางของความสุข” งานที่เปิดพื้นที่รวบรวมผลงานผ่านการเดินทางระหว่าง สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 15,000 องค์กร โดยหนึ่งในกิจกรรมในงานคือ การจัดแสดงนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ" จากภาคีเครือข่ายบริเวณ รวมกว่า 31 นวัตกรรม

โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม หนึ่งในโครงการที่ สสส. ผลักดันเพื่อส่งเสริมให้คนไทยกินผักผลไม้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่มีการวิจัยแล้วพบว่าช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น

จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ ผู้จัดการโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทย 75% กินผักผลไม้น้อยกว่าวัน 400 กรัม มีเพียง 17% ที่บริโภคตามมาตรฐาน โดยประเทศไทยมีผักที่บริโภคได้ถึง 330 ชนิด รวมทั้งผักพื้นบ้านด้วย แต่คนไทยบริโภคผักอยู่เพียงแค่ 70-80% ของชนิดผักทั้งหมดเท่านั้น โดยประเด็นการบริโภคผักผลไม้ สสส.และภาคีเครือข่ายได้รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่การศึกษาข้อมูล วิชาการ ส่งเสริมเรื่องของการปลูก ตลอดจนการจำหน่ายเพื่อเพื่อให้คนไทยเข้าถึงผักและผลไม้ปลอดสารพิษได้ง่าย สร้างเส้นทางของการบริโภคเพื่อสุขภาพของคนไทย

ทำอย่างไรถึงจะกินผักให้ได้ 400 กรัม

จันทร์จิดา บอกว่า ไม่ใช่เรื่องยากเลยกับการกินผัก ผลไม้ ให้ได้ในปริมาณที่เรียกว่า “เหมาะสม” สามารถคิดตามการใช้หลักธงโภชนาการง่ายๆ คือ แบ่งเป็น 5 ส่วน ผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน หรือคิดเป็นทัพพี เราควรบริโภคไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ทัพพีโดยรวม 400 กรัมขึ้นไปทุกวัน และที่สำคัญ ควรกินให้หลากหลาย คือ หลากหลายชนิด หลากหลายสีสัน หลากหลายรสชาติ ควบคู่กับการกินอาหารประเภทอื่นให้ครบ 5 หมู่

สำหรับคนเมืองที่อาจจะไม่มีเวลาในการเลือกรับประทานแนะนำให้ลองนำผักและผลไม้มาปั่น โดยวันนี้เรามีสูตรมาแนะนำด้วยค่ะ

ส่วนประกอบของ น้ำผักสดปั่น

1.ผักคะน้า ครึ่งแก้ว และผักกวางตุ้งปริมาณ ครึ่งแก้ว (แก้ว 16 ออนซ์) โดยชนิดของผักสามารถเลือกเพิ่มเติมได้ตามที่เราหาได้ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ผักบุ้ง มะละกอ มะเขือเทศ เป็นต้น ตามด้วยแครอท 2-4 แว่น

2. น้ำมะนาวปริมาณ 15 มิลลิลิตร

3. น้ำเสาวรส 35-45 มิลลิลิตร

4. เพิ่มความหวานแบบธรรมชาติด้วยกล้วยสุกประมาณครึ่งลูก

5. น้ำเปล่า 45-90 มิลลิลิตร

6. น้ำแข็ง 1 แก้ว (แก้ว 16 ออนซ์) 

สิ่งสำคัญที่สุดก่อนจะลงมือทำน้ำผักสดปั่นคือ การทำความสะอาดผักทุกชนิด ต้องล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้งเพื่อชำระสารตกค้างที่อยู่ในผักและเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราด้วย

นอกจากการบริโภคผักผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอแล้ว การเลือกบริโภคผักผลไม้ที่สะอาดปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลโรคในระยะยาว

สสส. ได้ร่วมมือกับ กลุ่มปลูก ปรุง เปลี่ยน องค์กรผู้ประกอบการสังคมบริษัทสวนเงินมีมา และเครือข่ายตลาดสีเขียว ผลักดันให้มีพื้นที่จำหน่ายผักผลไม้ปลอดภัย ที่ได้มาจากการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์มีกระบวนการตามวิถีธรรมชาติในราคาที่เป็นมิตร ผ่านการระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม Participatory Organic Guarantee System (PGS) เป็นการรับประกันคุณภาพผลผลิตอินทรีย์ที่ชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการผลิต การจัดจำหน่าย โดยชุมชนเรียนรู้และพัฒนาระบบประกันความเป็นอินทรีย์ด้วยกระบวนการทางสังคมของแต่ละชุมชน ซึ่งไม่มีสูตรตายตัว และเกษตรกรกรออกแบบฟอร์มน้อยที่สุด กระบวนการรับประกันโดยชุมชนมีส่วนร่วมนี้ จะตั้งอยู่บนความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ที่เกิดจากกลไกควบคุมทางสังคมของชุมชน และจะเป็นกระบวนการพัฒนาที่มีความต่อเนื่อง

ปัจจุบันได้จัดตั้งให้มี 7 พื้นที่ออร์แกนิกสเตชั่นเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าอาหารปลอดภัยได้แก่ ผักผลไม้ตามฤดูกาล เกลือจากธรรมชาติ น้ำตาลจากมะพร้าว ไข่ไก่อารมณ์ดี รวมถึงผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศไทย เช่น กะปิ น้ำผึ้ง เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/yarmyen2016

7 สถานีออร์แกนิก

1.ตลาดถนอมมิตร (รามอินทรา)

2. ร้านส่วนเงินมีมา ถ.เฟื่องนคร

3. สโมสรผึ้งน้อย ซอยพหลโยธิน 60

4. ร้านค้าโรงเรียนรุ่งอรุณ พระราม2

5. อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซอยงามดูพลี สาทร

6.DC ซอยลาดพร้าว 30

7.ร้านยามเย็น ถ.อุทยาน

จันทร์จิดา ยังฝากทิ้งท้ายว่า นอกจากการเลือกบริโภคแล้ว สิ่งที่อยากให้คนไทยให้ความสำคัญอีกอย่างคือ การปลูกผักกินเอง ที่ดูเหมือนอาจจะเป็นเรื่องยากแต่แท้จริงแล้วเราสามารถทำได้ ที่สำคัญเป็นการทำให้เราสามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้สามารถติดตามกิจกรรม และข้อมูลต่างๆของ โครงการโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม ได้ที่ http://www.vegandfruit400.org

สำหรับนิทรรศการ 15 ปี สสส. “การเดินทางของความสุข” จะมีการจัดแสดงตลอดปี 2560 และมีการหมุนเวียนไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพการทำงาน และความสำเร็จบนเส้นทางการสร้างเสริมสุขภาพ

Comments

comments