รักษาโรคด้วย ‘ดนตรี’ ก็ได้หรือ?

0
227

เสียงดนตรีเป็นเสียงที่มีความพิเศษ และน่าอัศจรรย์มาก

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของ “ดนตรีบำบัด” กันมาบ้างแล้ว จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า ดนตรีมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายเรื่อง ทั้งลดความเจ็บปวด ลดความเครียด นอนไม่หลับ ตลอดจนควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจได้เลยทีเดียว ว่าแต่ที่ว่ารักษาโรคต่างๆ ได้นั้น จะจริงหรือเท็จอย่างไร วันนี้มีคำตอบค่ะ

จากบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งทางด้านดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” มีความสำคัญต่อมนุษย์มายาวนาน ทั้งในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคอริสโตเติล และเพลโต ในสมัยสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง แพทย์ได้ว่าจ้างนักดนตรีมาช่วยในการรักษาฟื้นฟูสภาพกายและใจของเปล่าทหารผ่านศึก หลังจากจากนั้นดนตรีบำบัดได้มีความก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน

“เสียงดนตรีเป็นเสียงที่มีความพิเศษ และน่าอัศจรรย์มาก เพราะนอกจากจะเป็นเสียงที่ทำให้ผ่อนคลายและแสดงอารมณ์ต่างๆ ได้แล้วยังช่วยในเรื่องของการรักษาทั้งด้านจิตใจ และร่างกาย” ดร.สุขพัชรา ซิ้มเจริญ ศึกษานิเทศก์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านสมอง กล่าวในกิจกรรม "ดนตรี" มีผลต่อการพัฒนาสมอง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ได้อย่างไร ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

ดร.สุขพัชรา ให้ข้อมูลว่า จังหวะของเครื่องดนตรีมีผลต่อสมองต่างกัน เช่น ดนตรีจังหวะช้า ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จิตผ่อนคลาย เกิดการจดจำได้ดี ในขณะที่ ดนตรีจังหวะเร็ว จะทำให้รู้สึกตื่นตัว และสนุกนานจะกระตุ้นอารมณ์และสมองให้แจ่มใส มีความสุข

ทั้งนี้ จังหวะดนตรีที่เหมาะสมควรมีจังหวะ 70-80 ครั้ง/นาที = การเต้นของหัวใจ เป็นจังหวะที่พอดีทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุขออกมา ทำให้เรามีความสดชื่น มีความตื่นตัว แจ่มใส มีบุคลิกภาพที่ดีมีความสุข ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปตามปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง

สำหรับเรื่องการนำดนตรีมาใช้รักษาความเจ็บป่วย ได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังกว่า 50 ปี โดย Buckwalter et.al 1985 พบว่า ดนตรีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจของมนุษย์ สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เรื่อง ลดความกังวล ความกลัว เพิ่มการเคลื่อนไหว สร้างแรงจูงใจ ผ่อนคลาย จูงใจให้เกิดสติได้ ในขณะที่ Munro and Mount 1986 ได้ศึกษาตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายอายุ 15 ปี ซึ่งเผชิญกับอาการปวด พบว่า การใช้ดนตรีสามารถลดความกังวลของผู้ป่วยได้ แต่ก็ยังสรุปได้ไม่ชัดเจนเรื่องของการลดความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานจากความปวดจากโรค

ด้าน จิรภี สุนทรกุลณชลบุร 2003 ได้ศึกษาผลของดนตรีบำบัดต่อการลดความกังวล และความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า ดนตรีสามารถลดความกังวลในผู้ป่วยได้ แต่ยังสรุปไม่ได้เรื่องการลดความปวดเช่นเดียวกันกับ Munro and Mount

ลักษณะของดนตรีบำบัดควรเป็นแบบไหน

(ข้อมูลจาก : คู่มือดนตรีเพื่อพัฒนากายและใจ โครงการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังผู้หญิงด้วยกิจกรรมทางกายและใจในชีวิตประจำวัน สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.)

1. ควรเป็นเพลงบรรเลง ไม่ควรมีเนื้อร้อง มีเสียงตามธรรมชาติ เช่น เสียงนก น้ำตก เป็นต้น

2. มีจังหวะที่ช้า มั่นคง สม่ำเสมอประมาณ 70-80 ครั้ง/นาที และมีทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ระดับเสียงปานกลาง-ต่ำ

3.  ความเข้มของเสียงไม่ดังมาก ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ฟัง เนื่องจากความดังสามารถกระตุ้นให้มีความเจ็บปวดของผู้ป่วยให้เพิ่มมากขึ้นได้

4.ประเภทของดนตรีที่นิยมใช้ อาทิ พิณ เปียโน กีตาร์ วงออร์เคสตร้า แจ๊สแบบช้า ป๊อป คลาสสิค เป็นต้น

5.ดนตรีที่ผู้ฟังมีความคุ้นเคย และความชอบ

7 ความมหัศจรรย์ของดนตรีบำบัด

(ข้อมูลจาก : ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.)

1. ลดความเจ็บปวด

คนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดเมื่อได้ฟังดนตรีจะลดอาการปวดและต้องการใช้ยาแก้ปวดน้อยลง

2. ทำให้เลือดลมดี

ฟังเพลงท่อนเพลงค่อยๆเพิ่มความดังที่ละน้อย ทำให้เส้นเลือดขยายเลือดลมเดินสะดวก

3. ควบคุมการหายใจ

เพลงจังหวะเร็วทำให้อัตราการหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันเลือดเพิ่มขึ้น

4.ช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว

ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีการทดสอบพบว่า ดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดจำนวนวันที่อยู่ในตู้อบและเพิ่มน้ำหนักตัวได้

5. ชะลอชรา

ดนตรีช่วยสร้างโกรทฮอร์โมน มีการศึกษาพบว่านักดนตรีวัย 45-65 ปี มีคามจำและประสาทการฟังดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่น

6.ต้านซึมเศร้า

ช่วยลดความเครียด ความกังวล และไม่อยากอาหารของผู้ป่วยได้

7.กระตุ้นสมอง

การฟังดนตรีช่วยกระตุ้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เพิ่มประสิทธิภาพในส่วนความจำระยะยาวของสมอง

ดนตรีบำบัด เป็นการนำศาสตร์แห่งศิลปะมาประยุกต์ใช้ในเชิงการรักษา ซึ่งนับเป็นการค้นคว้าที่น่าสนใจถึงประสิทธิผลทางการรักษา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าดนตรี และเสียงเพลงสามารถส่งผลทางการรักษาโรคได้จริง

ดังนั้น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่ดีต่อร่างกาย ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ยังคงเป็นวิธีสุดคลาสสิคที่ช่วยให้เราห่างไกลโรคได้ดีที่สุดค่ะ

Comments

comments