เปิดความหมาย โคลง-กลอน ในละครบุพเพสันนิวาส
ใครที่ได้ชมละครบุพเพสันนิวาส เมื่อคืนนี้ (7 มีนาคม 2561) คงจะได้เห็นฉากที่ ออกญาโหราธิบดีชวนทุกคนแต่งโคลงกลอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฉากที่มีความละเมียดละไม น่าติดตามเป็นที่สุด การแต่งโคลง-กลอน ประชันกันใต้แสงพระจันทร์อันงดงาม ทำให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มไปในบทโคลง-กลอนที่มีความไพเราะน่าฟังและความโรแมนติกของบรรยากาศในยามค่ำคืนที่งดงาม
แต่สำหรับแฟนๆ ละครคนไหน ที่กำลังงงอยู่ว่าในโคลง-กลอนของคุณพี่หมื่นสุนทรเทวา แม่หญิงการะเกด และแม่หญิงจันทร์วาด มีความหมายว่าอย่างไรกันบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
โคลง แม่หญิงจันทร์วาด
ตะวันลับเหลี่ยมเจ้า. เจียมจันทร์
แสงบ่เรืองกระสัน. สู่ฟ้า
เมฆลอยบังพลัน. สุดส่อง
คิดจึ่งเจียมตัวข้า. ต่ำต้อยเทียมดิน
คำแปล : พระอาทิตย์ลับฟ้า จันทร์แทนที่ ฟ้ามืดไร้แสงแล้ว ยิ่งเมฆบังแล้วหมดโอกาสที่จะเห็นแสงจันทร์ คิดแล้วข้าเจียมตัวว่าอยู่บนดิน คงไม่มีโอกาสชมแสงจันทร์ (อารมณ์ประมาณ สงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่มีหวังคู่เขา)
โคลง หมื่นสุนทรเทวา
ตะวันลับเหลี่ยมเจ้า. เมฆบัง
นกส่งเสียงยังรัง. แซ่ซ้อง
จันทร์ฤาแลหลัง. ถึงเมฆ
ดาวจึ่งเจียมจิตป้อง. ไป่สู้เทียมจันทร์
คำแปล : ตะวันลับฟ้าไป นกส่งเสียงกลับรังดังระงม จันทร์นั้นอยู่หลังเมฆบัง ดาวจะพยายามไปอยู่คู่ดวงจันทร์ให้ได้ (อารมณ์ประมาณว่า คนใจสู้จะหาวิธีไปคู่ดวงจันทร์บนฟ้าเอง)
กลอนหก แม่หญิงการะเกด (กนกนคร พระนิพนธ์ น.ม.ส. )
หาแถงแง่ฟ้าหาง่าย เบื่อหน่ายบงนักพักตร์ผิน
หาเดือนเพื่อนเถินเดินดิน คือนิลนัยนาหาดาย
เพ็ญเดือนเพื่อนดินสิ้นหา เพ็ญเดือนเลื่อนฟ้าหาง่าย
เดือนเดินแดนดินนิลพราย เดือนฉายเวหาสปราศนิล
คำแปล: พระจันทร์บนฟ้า เงยหน้ามองก็เจอ หาง่ายจะตาย เบื่อจะมองแล้ว. แต่คนตาสวยดุจนิล เสมือนดวงจันทร์บนดินสิหายาก ไม่ต้องไปหาเลย คงมีแค่เพียงคนเดียว แม้แต่จันทร์บนฟ้ายังตาสวยไม่เท่าเดือนบนดินเลย คือนางนั้นเองที่ตาสวยกว่าจันทร์ (อารมณ์ประมาณว่า ปลอบใจแม่หญิงจันทร์วาด)
ที่มา : กนกนคร / กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์.กรุงเทพฯ : คลังวิทยา. 2514. (หน้า 135)
*หมายเหตุ
“...คำที่กวีใช้ซ้ำกันคือ “หา” “เดือน” และ “นิล” ความไพเราะทางด้านเสียงปรากฏได้อย่างชัดเจน ส่วนในด้านความหมาย แสดงให้เห็นถึงความฝังใจในตัวนางกนกเรขาอย่างล้ำลึก ทั้งเป็นความฝังใจในลักษณะการเชิดชูจนเลิศเลอ เพราะกวีกล่าวว่าระหว่างเดือนบนดินคือนางกนกเลขา กับเดือนบนฟ้าคือพระจันทร์นั้น เดือนบนฟ้าคือพระจันทร์นั้น เดือนบนฟ้าพบเห็นได้ง่ายจนบางครั้งเกิดความจำเจ เบื่อหน่ายจนต้องเบือนหน้าหนี แต่เดือนบนดิน อยากพบเห็นใจแทบขาดกลับไม่ได้พบ และถึงแม้จะมีเดือนบนฟ้าอยู่เป็นเพื่อนก็ไม่มีความหมาย เพราะไม่งามประทับใจเท่าเดือนบนดินคือนาง สรุปคือการกล่าวชมความงามของนางนั่นเอง...”
ที่มา : สุนทรียลักษณ์ในกนกนคร โดย วลีรัตน์ กฤตลักษณ์
cr: หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์