ช่อง 7 ละคร "ฟ้าใหม่" (รีรัน) ออกอากาศทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 20.10 น. เริ่มตอนแรก 6 ตุลาคม 2560
เตรียมนำมาออกอากาศอีกครั้งแล้ว สำหรับละครเรื่องยิ่งใหญ่ ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบอกช่อง 7 ฟ้าใหม่ ปี 2547 นวนิยายดังกล่าวได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์โดย บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด จากบทประพันธ์ของ ศุภร บุนนาค บทโทรทัศน์โดย ศัลยา กำกับการแสดงโดย จรูญ ธรรมศิลป์ นำแสดงโดบ ณัฐวุฒิ สกิดใจ กับพัชราภา ไชยเชื้อ ร่วมด้วย จีรนันท์ มะโนแจ่ม,อติมา ธนเสนีวัฒน์,ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล,ชินมิษ บุนนาค,คงกระพัน แสงสุริยะ และ นักแสดงมากฝีมืออีกคับคั่ง
ทั้งนี้ ฟ้าใหม่ เป็นเรื่องราวของเหตุการณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เคยอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองสงบสุข แต่เมื่อพม่าเข้ามาราวี คนไทยแปรพักตร์เพราะหวังเป็นใหญ่ในภายหน้า เจ้าเหนือหัวฝักใฝ่อยู่แต่อิสตรี ทำให้บ้านเมืองถึงกลียุค ผู้กล้าของไทยแม้เพียงน้อยนิดหรือจะทัดทานข้าศึกที่ยกมาเป็นพันเป็นหมื่น ไม่นานนักอยุธยาก็ล้มสลาย ไพร่ฟ้าไร้ที่อยู่อาศัย แตกฉานซ่านเซ็น แม่ทัพนายกองที่มีฝีมือก็ถูกส่งไปประจำหัวเมืองต่างๆ ไม่มีผู้ใดกอบกู้อยุธยา พวกหัวเมืองพากันแต่งตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมืองและเมืองพิษณุโลกถูกพม่าพม่า แย่งชิงไป ทำให้พระเจ้าตากรู้สึกเสียพระทัยอย่างมากจึงต้องส่งยอดฝีมือขึ้นไปปราบจน พม่าไม่กล้ามาตีสยามประเทศอีกเลย
ฟ้าใหม่เป็นละครโทรทัศน์ไทยแนวนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย กรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ่านสายตาของตัวละครหลักชื่อ "แสน" นายทหารมหาดเล็กเชื้อสายผู้ดีแขกเทศ เพื่อนร่วมสาบานรุ่นของคุณคนใหญ่ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช), คุณคนกลาง (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) และคุณคนเล็ก (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ซึ่งได้เค้าโครงมาจากประวัติของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาค ที่คุณศุภรเป็นสะใภ้คนหนึ่งของตระกูลนี้
เรื่องย่อ
:: ปลายรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ แสน (พระเอก) อายุได้ 8 ขวบ ออกหลวงพิชิตบรเทศ (หรือหลวงนายสิทธิ์) พ่อของแสนพาแสนเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ของพระองค์ท่าน และพระองค์ท่านได้พระราชทานแสนให้เป็นมหาดเล็กของ สมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ และแสนเป็นที่เอ็นดู และโปรดปรานของท่านยิ่งนัก เพราะเป็นมหาดเล็กที่เด็กที่สุด อีกทั้งยังหน้าตาดีมากอีกด้วย
:: ออกหลวงพิชิตบรเทศพ่อของแสนเป็นขุนนางผู้มั่งคั่งจากการสืบทอดการค้าทางการเรือของตระกูลขุนนางสายกรมท่าขวา ต้นตระกูลเป็นขุนนางเชื้อสายเปอร์เซียน ส่วน แม่นายกลิ่นจันทร์ แม่ของแสนเป็นธิดาสาวสวยของ เจ้าสัว จีนผู้มั่งคั่งสายกรมท่าซ้าย เธอเป็นชาววังมาก่อนและความสวยเป็นที่เลื่องลือนัก และเพราะแสนเป็นหลายชายโทนและฉลาดน่ารักนักหนา เจ้าคุณปู่ และ คุณหญิงย่า ของแสนจึงหมายมั่นให้แสนได้เป็นขุนนางชั้นสูงสุดหนี่ขี่คานหามให้ได้ แต่ท่านทั้งสองสิ้นบุญไปก่อนที่จะได้เห็นความสำเร็จในราชการของแสน
:: แสนสนิทสนมกับมหาดเล็กหนุ่มรุ่นพี่อยู่ 3 คน สองคนคือคุณคนใหญ่ หรือ คุณใหญ่ กับ คุณเล็ก เป็นพี่น้องคลานตามกันมาจากตระกูลขุนนางเศรษฐีผู้ดีเก่าแก่ยาวนานสายเจ้าแม่วัดดุสิตและมีนิวาสสถานอยู่ย่านวัดสุวรรณดาราม เพียงเอ่ยว่า " พวกบ้านวัดสุวรรณ" ก็เป็นที่รู้จักกันว่าตระกูลไหนเหมือนกับที่ถ้าเอ่ยว่า "พวกบ้านท่าตะเภาแขก" ก็จะหมายถึงตระกูลของแสน ส่วนอีกคนหนึ่ง คือ คุณกลาง หรือ คุณหน้าสวย เป็นเพื่อนร่วมสาบานกับคุณใหญ่คุณเล็กเป็นบุตรบุญธรรมของตระกูลขุนนางฝ่ายวังหลวง คุณกลางมีเชื้อจีนและสามารถพูดภาษาจีน ญวณและมลายูได้ มหาดเล็กรุ่นพี่นี้มีเพียงคุณใหญ่เท่านั้นที่เป็นมหาดเล็กของวังหน้า ส่วนคุณเล็กและคุณกลางเป็นมหาดเล็กของวังหลวง ทั้งสามคนและแสนสนิทสนมกันมาก ไปไหนไปด้วยกันตลอดและต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก มหาดเล็กทั้งสี่นี้ต่างก็มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการกอบกู้และสร้างเมืองใหม่ให้เป็น "ฟ้าใหม่" ของคนไทยทั้งปวง
:: วันหนึ่งพี่ทั้งสามคนและแสนว่างจากการฝึกดาบที่สำนักพุทไธยศวรรย์ พี่ทั้งสามนัดกันไปที่วัดเก่าศรีอโยธยาอันเป็นวัดร้าง เพราะได้ยินมาว่ามีตาเถรชรามาจำศีลภาวนาอยู่โดดเดี่ยวที่กุฏิร้างท้ายวัด และว่ากันว่าแกมีของขลังหลายอย่างและมีตาทิพย์ มหาดเล็กหนุ่มทั้งสามอยากได้ของขลังไว้ติดตัว จึงชวนกันไป แสนตามพวกพี่ ๆ ไปด้วย โดยมี ออกรับ ทาสประจำบ้านซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของแสนตามไปดูแลแสน แต่พี่ทั้งสามให้กรับรออยู่เพียงหน้าวัดกับ เจ้าสมเกลี้ยง และ เจ้าพรหม ทาสติดตามของพวกเขา วัดศรีอโยธยาเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีฯ เป็นวัดร้างที่ดูน่ากลัวจนไม่มีใครอยากเฉียดใกล้ สามหนุ่มและหนึ่งเด็กบุกพงรกผ่านป่าช้าไปจนถึงกุฏิร้างท้ายวัด เมื่อไปถึงสิ่งแรกที่ทำให้ประหลาดใจคือ กุฏิซึ่งจะพังมิพังแหล่นั้นไม่มีบันไดขึ้น ต้องโหนหัวไม้เคร่าขึ้นไปและสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจเป็นสิ่งที่สองคือเสียงเชื้อเชิญของชายชราที่เอ่ยราวกับตาเห็นให้สามหนุ่มกับหนึ่งเด็กขึ้นไปหา โดยเรียกว่า "ไอ้ตัวเล็กกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินวันหน้า" และเมื่อโหนกุฏิกันได้หมดแล้ว ภาพที่เห็นทำให้ทุกคนตะลึงจังงังอยู่กับที่ก็คือ ชายชรานั้นชรากว่าที่คิดเอาไว้มากมายนัก สังขารบอกว่าอายุเกินร้อยปี นั่งหน้าซุกเข่าอยู่เหมือนผ้าขี้ริ้วกองหนึ่ง
:: ชายชราพูดเสมือนพยากรณ์ว่าคุณใหญ่และคุณกลางคือ "จอมคน" และคุณเล็กคือทัพหน้าที่จะปราบเสี้ยนหนามของแผ่นดินให้ย่อยยับ ส่วนแสนคือแขนซ้ายขวาของพี่ ๆ ทั้งสาม เมื่อกรุงศรีอยุธยาหาไม่แล้ว แสนจะเป็นพาหนะไปสร้างกรุงใหม่และมีลูกหลานสืบสกุลใหญ่ไปยาวนานหลายชั่วอายุ คุณเล็กผู้เลือดร้อนต่อว่าชายชราว่าแช่งชักกรุงศรีฯ แต่ชายชรายืนยันหนักแน่นถึงชะตากรรมของเมืองว่าเป็นความจริง และให้คุณใหญ่กับคุณกลางเรียนวิชาดูฤกษ์ล่างฤกษ์บนและฝึกฝนขนบธรรมเนียมการปกครองต่าง ๆ ของบ้านเมือง ส่วนคุณเล็กให้เรียนการพิชัยสงคราม และฝึกฝนวิชาอาวุธ และชายชรายังกล่าวอีกว่า ถ้อยความที่แก่พูดครั้งนี้มหาดเล็กทั้งสี่จะลืมเป็นบางคราว ต่อเมื่อถึงเวลาจึงจะนึกได้
:: และก็เป็นดังชายชราว่า ถึงแม้ว่าช่วงเวลาแรก ๆ มหาดเล็กหนุ่มทั้งสามจะกังวลกับถ้อยคำของแก่เพราะกรุงศรีอยุธยานั้นว่างศึกมาหลายชั่วอายุคน จึงมิมีการฝึกวิชาอาวุธ และทั้งสามเห็นว่าพระมหาอุปราชผู้จะสืบราชบัลลังก์ก็ออกจะมีจิตฝักใฝ่ในอิสตรี และทรงเป็นนักฝันชอบนิพนธ์ คำประพันธ์ แต่เพราะความที่เวลานั้น "บ้านเมืองยังดี" ไม่มีข้าศึกศัตรูมารุกราน อีกทั้งมหาดเล็กทั้งสี่ต่างร่วมปฏิญาณกันว่าจะมิแพร่งพรายเรื่องคำทำนายนี้แก่ผู้ใดเป็นอันขาด ประกอบกับอีกไม่นานต่อมาก็ถึงวาระพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท ข้าราชบริพารและนางในทั้งวังหลวงและวังหน้าโดยเสด็จแทบนับมิถ้วนเป็นขบวนมโหฬารและสนุกสนานมาก ด้วยว่าเป็นการเสด็จทั้งโดยชลมารคและสถลมารค และพระมหาอุปราชนิพนธ์คำประพันธ์อันไพเราะล้ำและขับประทานให้แสนฟังระหว่างเสด็จประพาสธารโศกและธารทองแดง คำของชายชราจึงเลือนไปหลบนิ่งอยู่เบื้องหลังความสุขของแผ่นดิน
:: เมื่อแสนย่างเข้าสู่วัยหนุ่มและโกนจุกแล้วนั้น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ประชวรด้วยโรคร้ายและระหว่างนั้นมีการขัดแย้งกันในหมู่พี่น้องพระราชวงศ์ของท่าน เหตุเพราะเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่แล้ว และเมื่อผสมกับความเจ็บป่วยกับความถือตนว่าเป็นพี่คนโตเป็นลูกอัครราชมเหสีและเป็นรัชทายาท อารมณ์ก็ยิ่งแรงมากขึ้น ทรงสั่งให้ลงอาญาเจ้ากรมปลัดกรมคนของน้อง ๆ ทั้งสามซึ่งเรียกกันว่า เจ้าสามกรม เพราะทรงเห็นว่าตั้งให้ทรงกรมสูงกว่ายศที่ควรแก่ฐานะถือว่าผิดราชประเพณี จนเพราะความเกลียดชังให้เกิดแก่บรรดาเจ้าสามกรม เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์จึงถูกกราบบังคมทูลเรื่องลักลอบทำชู้กับ ขาวสุดพุดจีบจีน หม่อมห้ามของพระบิดา ท่านจึงต้องพระราชอาญาซึ่งจะต้องถึงประหาร แต่เพราะก่อนที่พระมารดาของท่านจะสวรรคตได้เคยทูลขอต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิให้ลงโทษพระโอรสถึงประหาร เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์จึงต้องอาญาโทษโบย 230 ทีและถูกริบราชบาตร แต่เพราะเหตุที่ท่านประชวรติดต่อกันมาถึงสามปีแล้ว ท่านจึงมิอาจทนพิษบาดแผล และทิวงคตเมื่อถูกโบยได้ 180 ที แสนสะเทือนใจในชะตากรรมของเจ้านายอันเป็นที่รักยิ่งนัก และแม้เวลาจะล่วงผ่านไปนานเพียงใดก็ตามแสนก็ยังสะเทือนใจทุกครั้งที่นึกถึงยิ่งเห็นแหวนก้อยที่ท่านถอดประทานให้ก็ยิ่งสะเทือนใจ
:: หลังจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทิวงคต คุณใหญ่ได้รับหมายเกณฑ์ให้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กของ เจ้าฟ้าอุทุมพร คุณใหญ่จึงพาแสนเข้าถวายตัวด้วย คุณเล็กยังอยู่วังหลวง ส่วนคุณกลางนั้นออกไปอยู่หัวเมืองตากตั้งแต่เป็นหนุ่มเต็มตัวและได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ประจำของตน ก่อนหน้าที่จะเกิดการโบยครั้งยิ่งใหญ่นี้ คุณใหญ่และคุณเล็กรู้สึกถึงบรรยากาศในวังเริ่มร้อนราวไฟอยู่แล้วและคิดกันว่าหากต้องสิ้นเจ้านายจริง ๆ จะหาทางออกไปประจำอยู่หัวเมืองรอบนอกและข่าวที่สะดุดใจพ่อของแสนยิ่งนักคือข่าวจากคุณกลางซึ่งประจำอยู่หัวเมืองตากว่า อลองพญา ซึ่งเดิมเป็นพรานแห่งบ้านมุตโชโบและมาตั้งตนเป็นเจ้านั้น ยังอาฆาตแค้นไทยอยู่อย่างรุนแรงและคงไม่ปล่อยให้โอกาสหากได้ช่องที่จะชำระแค้นกับไทย พ่อของแสนสังหรณ์ว่าความระเริงในความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอยุธยาจนผู้คนประมาท เถลิงแต่ความสุขจนมิได้ระวังภัยจะนำอาณาจักรนี้ไปสู่ความล่มสลาย และสั่งแสนว่าหากอยุธยาถึงคราวล่มสลายจริง ๆ ให้แสนอยู่ใกล้ชิดคุณพี่ทั้งสามและหาถิ่นใหม่ตั้งอาณาจักรไทย ความสังหรณ์ของพ่อแสนนั้นมีมาตลอดเพราะคนกรุงศรีฯ รู้เรื่องพุทธทำนายความล่มสลายของกรุงศรีฯ ดี แต่คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองรุ่งเรืองและมีอำนาจไพศาลเหนือบ้านเมืองอื่น อีกทั้งประเมินว่าพวกม่านศัตรูคู่แค้นยังตกต่ำโงหัวไม่ขึ้น จึงไม่ใส่ใจพุทธทำนายนี้กัน
:: อีกนานต่อมาจึงมีพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นพระมหาอุปราชพระองค์ใหม่และมีการแห่ครองวัง แสนออกจะตื่นเต้นที่ได้เข้าขบวนแห่ เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเขาแต่คุณใหญ่มีทีท่าชืดชายิ่งนัก การเข้าขบวนแห่พิธีอุปราชาภิเษกของเธอครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง เธอมิได้เต็มใจแต่ต้องทำเพื่อให้ตัวรอดไว้ก่อน สำหรับคุณใหญ่แล้วเธอไม่ต้องการลอกคราบเปลี่ยนสีตามนาย เธอถือว่ามีเจ้านายพระองค์เดียวแนบแน่น คือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เธอบอกแสนว่าหลังพิธีนี้เธอจะออกไปประจำอยู่หัวเมือง แต่จะไม่ไปไกลนัก หากเกิดเหตุในกรุงศรีเธอจะได้เข้ามารับแสนออกไปได้ทัน
:: การได้เข้าขบวนแห่พิธีอุปราชาภิเษกนำพาให้แสนได้พบกับ เรณูนวล (นางเอก) สาวรุ่นที่สวยมาก เธอมาดูขบวนแห่ครองวังกับนางในอื่นๆ การแต่งกายของเธอบ่งบอกว่าเธอเป็นสาวในสกุลสูง แต่ท่าทางเธอแก่นแก้วก๋ากั่นราวเด็กผู้ชาย เธอเรียกแสนอย่างล้อเลียนว่า "ลูกแขกค้าตะเภา" และชมอย่างล้อเลียนอีกเช่นกันว่าแสนขนตายาวเปรื้อย ทำให้แสนหงุดหงิดและขัดเคืองเป็นที่สุด แสนรู้จากเพื่อนชายว่าเธอเป็นลูกสาวคนเดียวของ พระยาพิษณุโลก กับภริยาเอก พ่อส่งเธอมาถวายตัวเป็นข้าหลวงตำหนัก พระพันวรรษาน้อย ตั้งแต่เธอยังเด็ก ปากคอเธอไม่มีใครเกินและเธอไม่กลัวใครด้วย ห้าวหาญเหมือนพ่อ ชอบขี่ม้ารำทวน ผิดวิสัยหญิงทั่วไป เพื่อนชายของแสนยุด้วยความคะนองให้แสนตอกกลับเธอคืน หากเจอกันอีกว่าเธอเป็นชาวเหนือพูดจากเก๋อไก๋น่าส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าม้ามากกว่าเป็นนางข้าหลวง แสนคิดว่าเขาจะตอกกลับในคราวหน้าที่พบกัน
:: คุณใหญ่รู้เรื่องความหงุดหงิดของแสนด้วยความขัน คุณใหญ่บอกว่าข้าหลวงสาวคนนั้นน่าจะชอบว่าแสนตาสวยและคงอยากให้มองเธอ และล้อแสนว่าตัดจุกไม่ ทันไรก็มีสาวมาเกี้ยวเสียแล้ว แต่ความหงุดหงุดของแสนที่ถูกผู้หญิงล้อหายวับไปในทันใดเมื่อรู้ว่าคุณใหญ่มาที่บ้านครั้งนี้เพื่อมาลาพ่อแสนไปประจำอยู่หัวเมือง แสนใจหายยิ่ง นัก คุณใหญ่สั่งแสนให้ฝึกอาวุธไว้สม่ำเสมอ เพราะเมืองม่านขณะนี้เงียบเชียบผิดสังเกต และได้ข่าวจากคุณกลางว่าขณะนี้ม่านมาค้าอัญมณีตามชายเขตแดนหนักมือขึ้นราวกับ จะรวบรวมเงินทองไว้ทำการใด และผู้ที่มาค้าเป็นชายฉกรรจ์ทั้งสิ้น ไม่ใช่ผู้หญิงดังแต่ก่อน คุณใหญ่ให้แสนบอกพ่อว่าให้แบ่งทรัพย์สินเงินทองเก็บซ่อนในที่ที่พ้นตาศัตรู และเตือนแสนมิให้ข้องแวะกับนางในนางห้าม ด้วยว่าเป็นอันตรายต่อชายผู้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท ให้ดูชะตากรรมของพระมหาอุปราชพระองค์เก่าเป็นตัวอย่าง
:: ในวังหลวงก็ยังมีเรื่องขัดเคืองเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์คุกกรุ่นไม่สร่าง เพราะ เสด็จพระองค์ใหญ่ หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศ พระเชษฐาของเจ้าฟ้าอุทุมพรไม่พอพระทัยที่พระองค์ไม่ได้รับอุปราชาภิเษกเป็นพระมหาอุปราชแต่ตอนนี้ทรงถูกบังคับให้ผนวช และเมื่อเสด็จพ่อยังไม่สิ้นเจ้าฟ้าเอกทัศจึงยังทำอะไรไม่ได้ แต่หากสมเด็จพ่อสิ้น ใครๆ ต่างคาดกันว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรคงเดือนร้อนเป็นแน่ เพราะเจ้าฟ้าเอกทัศทรงมีพวกมากกว่า และเจ้าฟ้าอุทุมพรเองก็ไม่ชอบกับฝ่ายเจ้าสามกรม จึงหาพวกไม่ได้ มีแต่สมเด็จพ่อและข้าราชบริพารที่รู้ว่าท่านเอาการเอางานกว่าพระเชษฐา ซึ่งเอาแต่จะสนุกสนานเฮฮาและชอบฟังคนสอพลอ
:: แสนรู้จากแม่นายกลิ่นจันทน์ว่านางข้าหลวงสาวน้อยที่ล้อเขานั้นชื่อ เรณูนวล การมาอยู่วังหลวงของเธอเสมือนเป็นตัวจำนำ เพราะบิดาเธอเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกหัวเมืองใหญ่และเป็นเมืองหน้าศึกทางเหนือ มีผู้คนและนักรบฝีมือดีในปกครองมากมายพอที่จะแข็งเมืองและตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้
:: คุณใหญ่ไปกินตำแหน่งยกกระบัตรเมืองราชพรี เมืองหน้าศึกทางใต้และได้ลูกสาวเศรษฐีเมืองนั้นเป็นภรรยา คุณกลางได้เป็น พระยาตาก ประจำเมืองตาก เมืองหน้าศึกทางเหนือ ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีคู่ คุณเล็กได้เป็น นายสุจินดา ยังอยู่วังหลวง ยังไมีมีคู่เช่นกัน และแสนได้เป็น หุ้มแพร ยังอยู่วังหน้า แสนพบกับเรณูนวลอีกครั้งเมื่อนายสุจินดา (คุณเล็ก) ชวนแสนไปดูพระธาตุวัดวรโพธิ์ที่หักลงเพราะพายุใหญ่ เพื่อจะดูว่ามีนางในคนไหนบ้างที่ไปหา เถนต่างชาติ ให้ทำเสน่ห์ให้ จะได้หมายหัวนางในเหล่านั้นว่าเป็นพวกที่เข้าข่ายอันตรายสำหรับบ้านเมืองเพราะเถนทั้งหลายที่มาฉวยโอกาสเหตุการณ์พระธาตุหักทำพิธีไสยศาสตร์และทำเสน่ห์เป็นพวกกุลามอญ ซึ่งมาจากฝ่ายม่าน เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะปลอมตัวแทรกซึมมาดูลาดเลาประเมินสถานการณ์ในกรุงศรีฯ และล้วงความลับในวังหลวงจากพวกนางในช่างพูดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปด้วย
:: แสนและนายสุจินดาสวนทางกับขบวนของสตรีมีศักดิ์และเรณีนวลอยู่ในขบวนนั้นด้วย เธอเห็นว่าแสนและนายสุจินดามุ่งไปทางวัดวรโพธิ์จึงเอ่ยแขวะด้วยความดูถูก ให้ทั้งแสนและนายสุจินดาได้ยินอย่างไม่กลัวเกรงว่าเธอขันนักที่ลูกผู้ชายใจทหารกรุงศรีอยุธยานี้ใส่ใจกับตาเถนกุลาข่าขมุด้วย นายสุจินดาพอใจเรณูนวลทันที ด้วยเดาได้ว่า เธอมิใช่นางในที่งมงายอยู่กับการทรงเจ้าเข้าผีหรือหาหมอทำเสน่ห์ ประกอบกับรู้ว่าเธอเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จึงทักทายกันด้วยดี นายสุจินดาบอกแสนว่าเรณูนวลเป็นหญิงที่เธอ อยากได้มาเป็นคู่เคียงคู่คิด แต่ติดว่าเด็กเกินไปสำหรับเธอ เธอจึงมองไว้ให้แสน แสนว่าเขาไม่อยากได้หญิงที่หัวแข็งเหมือนหัวไอ้โจรมาเป็นคู่
:: นายสุจินดาและแสนไปถึงวัดวรโพธิ์ และเห็นว่ามีกลดพระธุดงค์ปักอยู่ 4-5 กลด มีผ้าปิดล้อมมิดชิด นายสุจินดาพาแสนลอบไปสอดแนมที่กลดหลังหนึ่ง ที่เห็น ยี่สุน นางละครจริตมากเข้าไปและก็จริงดังนายสุจินดาคาด ยี่สุนถูกเถนต่างชาติล่อให้พูดถึงกำลังในการรบของกรุงศรีฯ และหล่อนก็พูดไปเรื่อยโดยไม่รู้เท่าทัน ยี่สุนกลับวังแล้วนายสุจินดาจึงชวนแสนเข้ากลดเพื่อดูทีท่าของเถนคนนั้น โดยทำทีเป็นชาวบ้านทั่วไปมาขอของขลัง แต่เถนนั้นมิปลงใจเชื่อเท่าไรนักเมื่อเห็นสง่าราศรีผู้ดีของนายสุจินดาและแสน และคืนนั้นนายสุจินดาและแสนและบรรดาทาสที่บ้านนายสุจินดาปลอมเป็นตำรวจวังมาทำเหตุไล่พวกเถนสอดแนมไปหมดสิ้น นายสุจินดานึกถึงชะตาเมืองว่านี่น่าจะถึงคราวชะตาร้ายแล้ว
:: คืนหนึ่งแสนสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึกราวถูกใครปลุก และนอนต่อไปไม่หลับจึงลุกออกนอกห้องและแสนได้เห็นสิ่งซึ่งทำให้ตัวเองหนาวยะเยือกคือดาวหางกลุ่มโตพาดเต็มฟ้า พ่อของแสนก็ตื่นมาเห็นด้วยเช่นกัน สองพ่อลูกปรารภกันเรื่องการแย่งราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นสิ่งปกติของอยุธยายิ่งยามผลัดแผ่นดินยิ่งต้องเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดกันว่ากลุ่มเจ้าสี่กรมคงถูกประหารหมดและเจ้าฟ้าเอกทัศคงสึกออกมาแย่งราชสมบัติจากเจ้าฟ้าอุทุมพรแน่ และก็จริงดังคาด เพียงวันรุ่งขึ้นพระเจ้าอยู่หัวประชวรกะทันหัน แสนและนายสุจินดาถูกเรียกเข้าเฝ้าพระมหาอุปราช และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถึงบันไดหน้าประตูพระมหามณเฑียรที่พำนักของพระเจ้าอยู่หัว ได้เห็นเค้าลางอันจะนำไปสู่การชิงราชบัลลังก์ เริ่มตั้งแต่เจ้าทั้งสี่กรมถูกสมเด็จรับสั่งเรียกให้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะยอมรับพระมหาอุปราชขึ้นครองราชย์ และท่านสี่กรมนั้นถวายสัตย์อย่างไม่เต็มพระทัยเลย ได้เห็นว่าเจ้าฟ้าเอกทัศละจากสมณเพศมาลักลอบซุ่มดูเหตุการณ์ในพระมหามณเฑียรด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้ม เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระอุปัชฌาย์เจ้าฟ้านเรนทร ทรงบิณฑบาตรชีวิตของเจ้าสี่กรมจากพระมหาอุปราชหากทั้งสี่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พระมหาอุปราชยินยอมแต่เจ้าสามกรมมิยอมผนวชจึงถูกประหารทั้งหมด มีแต่ กรมหมื่นเทพพิพิธ ที่ทรงหนีไปผนวชทันจึงไม่โดยประหาร
:: แสนไม่เข้าใจตัวเองว่าเหตุใดเมื่อผลัดแผ่นดินและจะมีเรื่องยุ่งถึงเลือดเนื้อนั้น ใจเขาจึงประหวัดเป็นห่วงข้าหลวงที่ชื่อเรณูนวลขึ้นมาในทันใด ในงานพระเมรุพระบรมศพ ข้าราชบริพารและนางในใกล้ชิดต้องโกนศรีษะไว้ทุกข์ แต่เรณูนวลรับหน้าที่เป็นนางร้องไห้จึงไม่ต้องโกน นายสุจินดาบอกกับแสนว่าเขาและแสนคงต้องเตรียมตัวถวายตัวแก่เจ้านายใหม่อีกครั้ง เพราะได้ยินมาว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรจะถวายราชบัลลังก์แก่เจ้าฟ้าเอกทัศ และเธอเห็นบรรดาเถนต่างชาติที่เคยถูกขับไล่ไปจากวัดวรโพธิ์นั้นมาปะปนกับผู้คนอยู่ในงานพระเมรุด้วย น่าจะเป็นเค้าลางว่าศัตรูคู่ศึกดั้งเดิมคือม่านกำลังคืบคลานมาใกล้ทุกขณะจิต ในงานพระเมรุนี้แสนได้ขี่ม้ารำทวนคู่กับนายสุจินดาถวายเจ้าฟ้าเอกทัศทอดพระเนตร และท่านทรงพอพระทัยมาก ประทานเงินให้แก่ทั้งสองคน และเพียงชั่วในคืนนั้นเองเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงถูกบังคับกลาย ๆ ให้ถวายราชบัลลังก์แก่เจ้าฟ้าเอกทัศ แล้วหลังจากนั้นท่านทรงออกผนวช
:: เช้ามืดที่แสนเข้าวังหลวงเพื่อถวายตัวต่อพระเจ้าเอกทัศนั้น ขบวนพระประเทียบของพระพันวรรษาผ่านแสนไป และแสนได้เห็นเรณูนวลอยู่ในขบวนพระประเทียบด้วย และเรณูนวลก็เห็นแสน แวบเดียวที่เห็นกันแสนรู้สึกได้ว่าสีหน้าเศร้าและเบื่อหน่ายของเรณูนวลเปลี่ยนเป็นยินดีราวกับได้เห็นคนรู้จักคุ้นเคย แล้วหลังจากนั้นแสนต้องรีบหันหลังให้ขบวนพระประเทียบ เพราะการที่ผู้ชายมองขบวนพระประเทียบนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามและโทษฉกรรจ์นัก
:: แสนเป็นคนแรกที่เข้าถวายตัวต่อพระเจ้าเอกทัศและได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างสูงด้วยพระองค์ทรงทราบว่าแสนเป็นคนโปรดของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ แต่สิ่งซึ่งทำให้แสนใจหายวาบด้วยความชิงชังเป็นที่สุดคือ พระเจ้าเอกทัศทรงยกแสนให้เป็นบุตรบุญธรรมของ จมื่นศรีสรรักษ์ราช ขุนนางสอพลอคู่พระทัยของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นพี่ของสนมเอกสองคนของพระองค์คือ เจ้าจอมเพ็ญ (หรือ เพ็ง) และ เจ้าจอมแมน สองสนมเอกที่มีแต่คนรังเกียจ จมื่นศรีฯ พอใจยิ่งนักที่ได้แสนเป็นบุตรบุญธรรมเพราะตนเองมีแต่ลูกหญิง และหวังจะได้แสนเป็นเขยในภายหน้าอีกด้วย ผู้ที่ช่วยให้แสนสบายใจขึ้นได้คือ จมื่นไวยวรนาถ ขุนนางผู้ซื่ตรงและเอาการเอางาน ผู้ต้องมาเป็นคู่ราชการคู่กินใจกับจมื่นศรีฯ ผู้ตั้งหน้าหาประโยชน์จากการสอพลอพระเจ้าแผ่นดิน เบียนบังของหลวง จมื่นไวยฯ กราบบังคมทูลให้แสนเป็นผู้ติดต่อข้อราชการระหว่างท่านกับจมื่นศรีฯ เท่ากับเปิดทางให้แสนห่างจากจมื่นศรีฯ ได้มาก และต่อมาแสนได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาราชการงานเมืองทั้งฝ่ายมหาดไทยและฝ่ายกลาโหมกับจมื่นไวยฯ อีกด้วย ได้เรียนกลการจัดทัพ การเขียนอ่านเลขอักษรเป็นรหัสอันเป็นวิชาพิเศษ และหอบตำรามาศึกษาท่องจำร่วมกับนายสุจินดาที่บ้านอีกด้วย ปิดประตูท่องกันอยู่แต่ในห้องเป็นเรื่องลับ ข้าวปลาอาหารก็กินอยู่ในนั้น
:: แม่นายกลิ่นจันทน์เข้าไปเยี่ยมเพื่อนพ้องชาววังในวังหลวงได้เห็นตัวจริงของเรณูนวลเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ฟังแสนเล่าเรื่องถูกผู้หญิงล้อเลียนมานานแล้ว และเมื่อ ได้พูดคุยกับเรณูนวล กลิ่นจันทน์ก็ออกจะพอใจว่าผู้หญิงคนนี้ นอกจากจะสวยมากแล้วยังเป็นหญิงที่คมทางปัญญาอีกด้วย และชาติกำเนิดของเธอก็เป็นหญิงมีศักดิ์ตระกูล เป็นถึงลูก เจ้าเมืองพิษณุโลกหัวเมืองสำคัญทางเหนือ เธอเหมาะทุกอย่างที่จะเป็นภรรยาเอก เหมาะที่จะปกครองผู้คน แต่อุปสรรคใหญ่หลวงก็คือเธอเป็นนางใน เท่ากับเป็นสมบัติของพระเจ้า แผ่นดิน สามัญชนแม้จะมาจากตระกูลขุนนางก็มิบังอาจเอื้อมขอให้ต้องราชภัย แต่แม่เรณูนวลเธอมิใช่หญิงฉลาดอย่างสามัญ เธอฉลาดล้ำลึกอีกทั้งเธอรู้หนังสือ ซึ่งแม้นางในทั่วไปก็ ไม่มีโอกาสจะเรียน และเธอก็มิใช่รู้ระดับอ่านออกเขียนได้ธรรมดา หากรู้สูงถึงขนาดเขียนใบบอกราชการได้ เขียนอักษรเลขเข้ารหัสได้ เธอให้น้ำผึ้งป่าดอกสารภีและขี้ผึ้งหอมแก่แม่ นายกลิ่นจันทน์ และที่กระดาษห่อนั้นเธอเขียนตัวอักษรและตัวเลขเป็นรหัสไว้ ใครไม่รู้ก็คิดว่าเป็นการขีดเขียนเล่นอย่างคนมือบอน แต่แม่นายกลิ่นจันทน์เธอก็เป็นคนฉลาดไม่ธรรมดา เช่นกัน ถึงจะถอดรหัสไม่ออกแต่เธอก็สะดุดใจว่านี้ต้องมีอะไรแอบแฝง พระพิชิตบรเทศเป็นผู้อ่านรหัสให้ ข้อความนั้นมีว่า การดีดสีตีเป่าสำหรับลูกผู้ชาย ยามบ้านเมืองดีก็ดีอยู่ เหมือนลายจำหลักดาบ แต่ตัวดาบนั้นต้องดีจริงจึงจะช่วยบ้านเมืองได้ คนรักบ้านรักเมืองรักแผ่นดินเกิด ภักดีมั่นในพระมหากษัตริย์ ย่อมเว้นว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวง และย่อมพา ตัวออกห่างหญิงร้ายชายชั่วทั้งปวง เมื่อรหัสถูกถอด แม่นายกลิ่นจันทน์จากที่ไม่สู้จะชอบใจเรณูนวลว่าทำเหมือนอวดรู้เกินหญิงและบังอาจจะลองภูมิลูกชายเธอก็คลายใจกลายเป็น นิยมชมชอบพระพิชิตและแม่นายกลิ่นจันทน์รู้ว่าเรณูนวลส่งสารปริศนานี้ถึงแสนเพราะเหตุที่แสนไปคลุกคลีใกล้ชิดกับจมื่นศรีสรรักษ์ราชผู้ฉ้อราฏร์บังหลวงที่คนชังกันทั้งเมือง พระพิชิตฯ พูดอย่างมั่นใจว่าเรณูนวลชอบแสนแน่ และสารนี้เท่ากับเป็นปริศนารักของเรณูนวลถึงแสนด้วย แสนเองก็รู้และเขาก็ชอบหญิงฉลาดเช่นนี้ แต่ก็ติดที่เธอเป็นนางในนางต้อง ห้าม แม่นายกลิ่นจันทน์รู้ทันทีว่าเธอต้องตกที่นั่งแม่สื่อเดินสารให้ลูกชายเป็นแน่แท้ แสนทำเป็นนิ่งเสีย ปล่อยให้พ่อแม่คิดหาวิธีที่แยบยลส่งรหัสบอกกล่าวเรณูนวล แล้วกลิ่นจันทน์ ก็คิดออก เธอเอาขี้ผึ้งหอมที่เรณูนวลให้มาทำเป็นสีผึ้งสีปากแบ่งใส่ตลับมากมายไปทั้งถวายทั้งแจกเจ้านายฝ่ายในและชาววังทั้งหลาย เมื่อถึงเรณูนวล กลิ่นจันทน์ก็ทำเป็นยกสีผึ้งตลับ ที่เธออ้างว่าเป็นของเธอใช้เองให้ และพูดกับเรณูนวลด้วยถ้อยคำธรรมดาว่า ในสีผึ้งที่เธอใช้นั้นเธอใส่ลูกกันภัยและลูกพุทธรักษาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เรณูนวลเข้าใจทันทีว่า กลิ่นจันทน์บอกนัยให้เธอรักษาตัวให้พ้นจากการเป็นสนมของพระเจ้าแผ่นดิน เธอจึงตอบกลิ่นจันทน์ไปว่าสีผึ้งของแม่เธอก็เป็นตำรับเดียวกับของกลิ่นจันทน์คือใส่ลูกกันภัยและ ลูกพุทธรักษาเหมือนกัน กลิ่นจันทน์กลับบ้านอย่างสบายใจไปเล่าคำสนทนาทั้งหมดแก่พระพิชิตและแสนซึ่งรอฟังอย่างกระหาย และคำจากเรณูนวลนั้นเป็นสิ่งชื่นใจเหลือล้ำสำหรับแสน
:: แสนได้มีโอกาสส่งสารถึงเรณูนวลผ่านตลับสีผึ้งของแม่ครั้งนั้นครั้งเดียวเท่านั้น ก็ต้องออกศึกเป็นศึกครั้งแรกในชีวิตของแสน ศึกครั้งนั้นเกิดจากอลองพญาให้ มังระ ราชบุตรตีเมืองทวาย มะริดและตะนาวศรีของไทย และตีได้สำเร็จจึงให้ทัพมุ่งต่อเข้าตีหัวเมืองฝ่ายไทยเพิ่มขึ้น แสนได้ไปทัพทันทีจากคำกราบบังคมทูลของจมื่นไวยฯ เพราะแสนเคยปวารณาตัวไว้ตั้งแต่แรกเรียนวิชากับจมื่นไวยฯ แล้วว่าอยากออกศึก ด้วยหวังจะไปให้ห่างจากครอบครัวของจมื่นศรีฯ และหวังว่าหากชนะศึกษอาจมีโอกาสกราบบังคมทูลขยับขยายไปจากครอบครัวจมื่นศรีฯ ให้เด็ดขาดไปเลย จะได้พ้นข้อครหา แสนสงสัยว่าในวังจะมีหนอนบ่อนไส้ มีขุนนางกินสินบนของพวกม่าน และน่าจะเป็นพระยาราชมนตรีปิ่น พี่ชายของจมื่นศรีฯ กับ พระยาพลเทพ เสนาบดีจตุสดมภ์กรมนา เพราะตำแหน่งแม่ทัพปลัดทัพที่จะออกรบคราวนี้ล้วนคนไม่มีฝีมือนัก ด้วยว่าคนมีฝีมือเชี่ยวชาญทางทหารถูกพลเทพย้ายไปกระจายอยู่ในงานด้านอื่น ดู ๆ ออกจะชัดว่าต้องการทอนกำลังทางการรบของกองทัพ แต่ก็ยังจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย
:: วันเดินทางนายสุจินดานำของเชิญขวัญมาให้แสน ของนั้นคือสายประคำของพระพุทธคุณร้อยแปดเม็ด นายสุจินดาบอกว่าเรณูนวลให้ เรียม พี่เลี้ยงต้นห้องของเธอลักลอบออกจากวังมาฝากนายสุจินดาให้แสน แสนดีใจยิ่งนักแต่ก็เก้อเขินเมื่อโดยนายสุจินดาล้อ แสนฝากแหวนนพเก้าเรือนมณฑปไปให้เรณูนวล และฝากถ้อยความถึงเธอว่า ถ้าบ้านเมืองดี แสนอาสาศึกจนถึงคราวได้บำเหน็จมือ จะทูลขอลูกสาวเจ้าเมืองสองแควมาไว้เป็นศรีบ้าน แต่ถ้าล้มหายตายจากกลางศึก ก็ขอเจ้าของประคำเก็บแหวนนี้ไว้ผู้ข้อมือบุตรชายของเธออันจะเกิดในภายหน้าด้วย แสนเอาแหวนที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงประทานให้ ร้อยเข้าไว้กับสายประคำของเรณูนวลและสวมคอไว้เป็นมิ่งขวัญตนตลอดเวลา
:: แสนและนายสุจินดาได้เป็นลูกทัพไปรับศึกด้านเมืองราชพรีด้วยกัน นายสุจินดาอยู่กองหน้าแสนอยู่กองหลัง พาหนะของนายสุจินดาคือม้าสีดำปลอดตลอดตัว ส่วนของแสนคือ เจ้าผ่านเอก ม้าแสนรู้คู่ใจ บรรดาทาสชายของทั้งบ้านแสนและบ้านนายสุจินดาต่างก็ตามมาอยู่ประจำกองเดียวกับนาย เมื่อพักทัพยามค่ำที่โพธาราม นายสุจินดาขออนุญาตแม่ทัพออกลาดตะเวนกับแสน แล้วนายสุจินดาพาแสนไปที่หมู่บ้านกระเหรี่ยงซึ่งนายสุจินดาเคยมานานแล้วเมื่อครั้งมาเยี่ยมออกหลวงยกกระบัตร หรือคุณใหญ่ซึ่งตอนนี้ไปประจำอยู่ที่อัมพวา เมื่อไปถึงหมู่บ้านกระเหรี่ยงนั้นเงียบเชียบเป็นหมู่บ้านร้างเพราะผู้คนอบยพหนี้ภัยไปหมด เหลือเพียงเรือนผู้เฒ่าที่นายสุจินดา ตั้งใจมาหาเพียงหลังเดียวที่มีคนอยู่ คือสายน้อยลูกของกระเหรี่ยงเฒ่า เธอบอกว่าผู้เฒ่าตายแล้ว แต่ก่อนตายได้สั่งให้เธอรอพบนายสุจินดาและน้องชาย ซึ่งผู้เฒ่ารู้ด้วยญาณ ว่าจะมาหาแน่นอนและฝากของสำคัญให้นายสุจินดาและน้องกับสั่งให้เธอทำนายการศึกให้ด้วย สาวกระเหรี่ยงใช้กระดูกไก่ 3 อัน เป็นเครื่องทำนาย เธอบอกว่าการรบครั้งนี้ ทัพไทยจะพ่าย แต่ฝีมือการรบอันเก่งฉกาจของนายสุจินดาและแสนจะเป็นที่เลื่องลือ และจะเป็นผู้ช่วยให้กองทัพไทยสูญเสียน้อยที่สุด และต่อไปทั้งคู่จะรับภาระการศึกหนัก และต้องแยกจากกัน แต่จะได้มาพบกันอีก เธอบอกว่าชะตากรุงศรีอยุธยาถึงที่สิ้นสุดแล้ว กรุงจะแตกย่อยยับขอนายสุจินดาและแสนอย่าได้อาลัย เพราะที่สร้างกรุงใหม่มีรอ อยู่แล้ว ณ ที่ที่มีพื้นน้ำกว้างใหญ่ และที่นั่นเธอมองเห็นคนสี่คนร่วมกันตั้งเมือง เมื่อทำนายจบสาวกระเหรี่ยงให้ของฝากจากผู้เฒ่าแก่นายสุจินดาและแสน มันคือเมล็ด ทองคำเล็กเท่าเมล็ดถั่วเขียว เธอให้แสนและสายสุจินดากลืนต่อหน้าเธอ และบอกว่าใครที่กลืนเมล็ดทองคำนี้ไว้ในร่างกายจะไม่มีวันตายโหง แล้วเธอขึ้นม้าควบหายไป ในความมืด
:: และทุกอย่างเป็นดังที่กระเหรี่ยงสาวทำนาย แสนและนายสุจินดานำกองรบอย่างสามารถด้วยสติปัญญา ชั้นเชิง และกลการรบที่ลึกล้ำที่ทำให้ใช้คน จำนวนน้อยต้านและฆ่าคนจำนวนมากได้แต่เพราะความตื่นกลัวของแม่ทัพไทยที่เห็นว่ากำลังของฝ่ายทัพไทยนี้มีน้อยกว่ากำลังของทัพม่านอยู่แล้ว แล้วม่านยังส่งทัพ ม้าเสริมเข้ามาอีก แม่ทัพจึงสั่งถอยกลับอยุธยา หากผู้ใดขัดคำสั่งโทษถึงหัวขาด กองของแสนคุมปืนใหญ่กลับ ส่วนนายสุจินดาอารักขาแม่ทัพ ทั้ง ๆ ที่กองทัพไทยสูญเสีย น้อยมาก แต่ทั้งแสนและนายสุจินดาไม่มีความชอบอันใดในการรบเพราะแม่ทัพเพ็ดทูลความดีเป็นของตนสิ้น ทั้งสองคิดว่าเพียงไม่มีโทษที่แตกทัพก็บุญหัวแล้ว หากแต่ พระเจ้าเอกทัศทรงมีวิจารณญาณในการประมวลร้อยเรื่องราวจากคำกราบบังคมทูลทั้งของแม่ทัพและของนายสุจินดากับแสน ทรงว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นกองทัพ แตกแต่ยังคุมกันกลับได้อย่างไม่เสียพล ผิดกับการแตกทัพทั่วไป ทรงตรัสกับนายสุจินดาและแสนว่าครั้งนี้จะไม่ทรงบำเหน็จใด ๆ ให้อาญาทัพคลอนแคลนเป็นตัวอย่าง ที่ไม่งาม แต่หากต่อไปเมื่อหน้าแสนและนายสุจินดายังรับราชการและมีช่องที่ได้รับมอบหมายให้ออกให้ทำการโดยลำพังแล้วได้ชัยชนะกลับมา เมื่อนั้นท่านจะปูนบำเหน็จ ให้ถึงใจ และทรงอนุญาตให้บ้านแสนฝึกหัดผู้คนยิงปืนได้ ไม่ต้องห้ามเหมือนบ้านอื่น
:: แสนกลับถึงบ้าน นอกจากความปริเวทนาการของครอบครัวทาสที่สูญเสียลูกผัวในการรบแล้ว แสนยังเห็นว่าข้าวของในเรือนถูกเก็บจนเรือนโล่ง พ่อและแม่แสนบอกว่าเตรียมพร้อมไว้ที่จะฝังซ่อนให้พ้นมือศัตรูหากข้าศึกเข้าประชิดกรุงศรีฯ จริง ๆ แม่นายกลิ่นจันทน์ยังสู้ทำอาหารอร่อยจัดใส่สำรับและภาชนะชั้นดีไว้รอรับแสน แม่บอกว่ายามนี้ความสุขนั้นถึงจะน้อยนิดดังสายฟ้าแลบก็ต้องรีบฉกฉวยไว้ พ่อบอกแสนว่าพวกบ้านวัดสุวรรณอพยพไปอยู่สะแกกรัง ขณะนี้รออยู่แต่นายสุจินดา แสนอยากให้แม่อพยพไปกับพวกบ้านสุวรรณด้วย แม่บอกว่าจะดูก่อน ไม่อยากหนี้เสือไปปะจระเข้กลางทาง
:: กินอาหารเสร็จแล้ว ราวกับพ่อจะรู้ว่าลูกชายอยากจะไป "มองหลังคาบ้าน" สาวที่ผูกใจอยู่ จึงทำทีเป็นง่วงนอน และเพื่อให้แม่ไปห่างจากลูกชายด้วยจึงแสร้งให้เรียกหาเฒ่ากรับมานวดให้ ด้วยรู้ว่าแม่นายกลิ่นจันทน์นั้นไม่มีวันยอมให้ใครมีฝีมือนวดสามีเกินตัวเธออยู่แล้วแน่นอน แสนเข้าห้องแล้วลงทางหน้าต่างออกจากบ้านมุ่งไปทางวังหลวง ถึงหน้าบ้านหอรัตนชัย บ้านน้าหญิงของเรณูนวล ยังไม่ทันจะเพ่งหลังคาเรือนด้วยซ้ำเสียงหนึ่งก็ลอยมา แล้วเจ้าของเสียงคือแม่เรียมก็ปรากฏตัว แสนและเรียมต่อปากต่อคำกันจนเรียมแน่ใจว่าใจแสนหนักแน่นกับเรณูนวลจริงแท้ จึงชี้ห้องเรณูนวลให้และให้แสนไปรออยู่เพียงใต้ชายคาหล่อนจะไปตามเรณูนวลลงมาพบ และให้เวลาเพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น และห้ามแสนล่วงเกินเรณูนวลเป็นอันขาด แสนให้คำมั่นและให้แหวนรังแตนเพชรเป็นสินน้ำใจแก่เรียม
:: แสนและเรณูนวลได้พบกันเพียงใกล้แค่เอื้อมชั่วหน้าต่างคั่น เรียมไปดูต้นทางอยู่ห่างออกไป แสนเอ่ยคำฝากรักจากใจได้ไพเราะล้ำและจริงใจยิ่งนัก สองคนแลกแหวนและให้คำสัตย์ต่อกัน เรณูนวลประนมมืออยู่ใกล้แก่เอื้อม แรงรักบริสุทธิ์ยามแรกรุ่นทำให้แสนสุดที่จะห้ามใจเขาประนมมือตนทับมือประนมของเรณูนวลแล้วเอามือน้อยนั้นมาแนบใจ และให้คำมั่นแก่เธอว่าวันใดที่กรุงศรีฯ มีฟ้าแผ้วแผ่นดินเย็น แสนจะบากบั่นทำการทุกอย่างให้ได้เรณูนวลไปเป็นดาวประจำชีพ แม้จะต้องฝ่าพระราชอาญาและกฎมณเฑียรบาลก็มิเกรง มีเพียงความตายเท่านั้นที่จะขวางกั้นเขากับเรณูนวลได้ ขอให้เรณูนวลรักษาตัวให้พ้นภัยรอท่าเขา เสียงจามเป็นสัญญาณหมดเวลาจากเรียม แต่ทันใดนั้นมีเสียงคนร้องด้วยความตื่นตระหนกระคนเสียงร่ำไห้ แล้วเรียมวิ่งถลันมาบอกว่ามีข่าวจากม้าเร็วว่าม่านบุกรุกเข้ามาถึงสุพรรณบุรีแล้ว
:: ความรัก ความอาวรณ์เป็นฉันท์ใด หนุ่มสาวคราวแรกรักเพิ่งได้ประจักษ์ในบัดนี้ เรณูนวลสุดที่หวงตัวต่อไป เธอโผเข้าสู่อ้อมกอดของแสน หัวใจสะท้อนสะท้านดังใบไม้ต้องพายุ เธอให้คำมั่นแก่แสนว่า เมื่อบ้านดีเมืองหายเดือดในวันข้างหน้า ไม่ว่าเธอจะตกไปอยู่ที่ใด หากรู้ว่าแสนยังมิเบนใจไปอื่น ยังตั้งตาคอยวันกลับของเธอ เธอจะสู้ลุยไฟนรก ฝ่าพระราชอาญาไปสู่เรือนแสน แต่หากแสนต้องอันตรายสุดวิสัยที่จะครองกันในชาตินี้ เธอจะบวชชี จะไม่มีวันยอมให้มือชายที่สองมาต้องกายเป็นอันขาด
:: ข่าวข้าศึกบุกเข้าถึงสุพรรณแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในชั่วเช้ามืด ชาวเมืองต่างพากันไปออกที่วัดประดู่โรงธรรม อาราธนาให้ขุนหลวงหาวัดสึกออกมาสู้ศึก พวกที่ใส่บาตรก็ใส่ด้วยกระดาษเขียนฎีกาให้ท่านสึกเช่นกันจนล้นบาตร พระเจ้าเอกทัศยังไม่ทรงทราบข่าวศึกเพราะยังบรรทมหลับอยู่มิมีใครกล้าปลุก บรรดาขุนนางต่างรอเข้าเฝ้าที่จะให้ปลุกพระบรรทมเพื่อกราบบังคมทูลข่าวศึก ก็มีแต่พระยาพลเทพห้าม อ้างว่าจมื่นศรีฯ เคยบอกว่ามิให้รบกวนเบื้องพระยุคลบาทโดยมิมีเรื่องคอขาดบาดตาย นางปริก เข้าวังพบกับเจ้าจอมเพ็ญ บอกเรื่องข้าศึกบุกสุพรรณและชาวเมืองไปขอให้ขุนหลวงหาวัดสึก เจ้าจอมเพ็ญให้เร่งไปบอกจมื่นศรีฯ และพระยาราชมนตรีพี่ชาย ส่วนตัวเจ้าจอมเพ็ญและเจ้าจอมแมนไปเพ็ดทูลยุยงพระเจ้าเอกทัศว่าขุนหลวงหาวัดจะสึกมาชิงราชบัลลังก์ พระเจ้าเอกทัศตรัสอย่างเสียดสีเหยียดหยันว่าจะออกท้องพระโรงไปประทับรอมอบราชบัลลังก์ให้ขุนหลวงหาวัดเอง และเมื่อทรงออกท้องพระโรงก็แผดสุรสีหนาถถามหาว่าใครจะมาถอดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ก็ให้เร่งมา ถ้าถอดพระองค์มิออก พระองค์จะถอดหัวผู้นั้นออกจากบ่า บรรดาขุนนางพากันหัวหดเพราะมิรู้ว่าพระอารมณ์ใด พระยามหาเสนา รีบกราบบังคมทูลเรื่องข้าศึกล่วงเข้าสุพรรณบุรี พระเจ้าเอกทัศจึงทรงต่อเรื่องได้ว่าเหตุใดชาวเมืองจึงต้องไปขอให้ขุนหลวงหาวัดศึก พระองค์ทรงบริภาษบรรดาขุนนางที่มิได้รีบกราบบังคมทูลข่าวศึกให้ทรงทราบโดยเร็วและให้พระยามหาเสนากับ พระยารัตนาธิเบศร์ และ สังฆการี ไปกราบทูลให้ขุนหลวงหาวัดสึกมาช่วยบ้านเมือง
:: ขุนหลวงหาวัดทรงสึกและทรงเรียกแสนกับนายสุจินดาเข้าเฝ้าเป็นสองคนแรก เพราะเป็นสองคนที่เคยทรงไว้พระทัยและได้ยินกิตติศัพท์ฝีมือรบที่แขวงราชพรี และทรงเรียกพ่อของแสนมาควบคุมการสร้างกำแพงกรุงเพิ่ม ขุนหลวงหาวัดให้แสนไปกับพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งเป็นปลัดทัพ โดยให้แสนคุมกองเรือปืนต่อท้ายขบวนของ ราชบังสรร ส่วนนายสุจินดาทรงให้เป็นกองระวังภัยแม่ทัพไปกับพระยายมราชซึ่งเป็นปลัดทัพเช่นกัน แม่ทัพใหญ่คือพระยามหาเสนา จากนั้นทรงให้ปล่อยแม่ทัพ 3 คนจากคุกเพื่อมาช่วยการศึก ได้แก่ พระยาอภัยราชา พระยายมราช และ พระยาเพชรบุรี ซึ่งถูกพระเจ้าเอกทัศสั่งจองจำตั้งแต่เมื่อครั้งที่ไปกราบทูลขอให้ท่านศึกมาชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเอกทัศ ต่อจากนั้นท่านจึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเอกทัศให้ลงโทษขุนนางสมสู่กับนางในของพระเจ้าเอกทัศอีกด้วย พระเจ้าเอกทัศต้องทรงยอมตามขุนหลวงหาวัดเพราะจนด้วยเหตุผลหนึ่ง และเพราะจำต้องยอมไปก่อนเพื่อให้ขุนหลวงหาวัดกู้บ้านเมืองให้ดี แล้วพระองค์จะทรงกำจัดเสียในภายหลัง จมื่นศรีฯ และพระยาราชมนตรีถูกลงโทษโบยคนละ 50 ที จมื่นศรีฯ ทนความเจ็บปวดได้ แต่พระยาราชมนตรีสิ้นชีวิต
:: กองทัพไทยยกออกไปต้านทัพม่าน กำลังของไทยน้อยกว่าม่านมากแต่ก็รบสุดชีวิตจิตใจรอกองทัพหลวงส่งมาสมทบ แต่ก็ไม่มีวี่แวว แสนและนายสุจินดาเห็น ว่าน่าจะใช้วิธีทำศึกแบบกษัตริย์ คือ ให้แม่ทัพกระทำยุทธหัตถี พระยามหาเสนาเห็นด้วย แสนจึงรับเป็นผู้ไปท้าอลองพญา โดยเอาเฒ่ากรับไปเป็นล่าม อลองพญารับคำท้าชนช้าง กับพระยามหาเสนา นายสุจินดาเป็นกลางช้างคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ อลองพญาจวนเจียนจะเสียท่าแก่พระยามหาเสนา มังระราชบุตร และ มังฆ้องนรธา จึงเข้ามารุมฟัน พระยามหาเสนาขาดคอช้างเสียชีวิต แต่เอาศพไปประจานไม่สำเร็จ เพราะนายสุจินดาสู้สุดชีวิตเอาศพกลับมาได้ ต่อจากนั้นอลองพญาไม่ยอมใช้วิธีรบแบบกษัตริย์อีกเลย ระดมกำลังโหมรุกไล่ทัพไทยจนแตก พระยายมราชบาดเจ็บและสิ้นชีวิตลงอีกคน พระยารัตนธิเบศร์ แสน และนายสุจินดาแปลกใจมากที่ทางกรุงศรีฯ เงียบเชียบไม่ส่งทัพ หนุนมาช่วยเลย จึงล่าทัพกลับเข้ากรุง และเข้าเฝ้าขุนหลวงหาวัดเพื่อทูลถามความขัดข้องในคืนที่มาถึงเลยทันที โดยที่แม้จะแตกทัพมาก็มิกลัวอาญากันอีกแล้ว ปรากฏว่ารอบ กรุงก็มีศึก แสนถูกเอาตัวไว้ติดท้ายช้างของขุนหลวงหาวัดออกไปรบในคืนนั้นเลย และนายสุจินดาถูกมอบหมายให้ไปรับหน้าที่ป้องกันพระนครด้านท้ายคูปากตะเคียน
:: กองทัพของอลองพญาโจมตีกรุงจนตั้งตัวไม่ติด ต้องกระจัดกระจายถอยเข้ากำแพงเมืองและพยายามลวงทัพม่านให้รู้สึกว่าไทยยังมีกำลังอีกมากมายในกรุง พวกไทยที่ขี้ขลาดไม่ยอมรบต่อก็มีมาก หนีกันจ้าละหวั่น แสนนำพลจำนวนเพียงหยิบมือลอบดั้นด้นไปตามหานายสุจินดาจนเจอแช่อยู่ในน้ำถูกทับถมอยู่ด้วยซากศพ แต่ก็ยังฟาดฟันข้าศึกด้านนั้นจนเรียบ และเมื่อเอาตัวขึ้นจากน้ำมาได้นายสุจินดาก็หมดสติ เพราะต้องรบโดยแช่อยู่ในน้ำทั้งคืน
:: ม่านระดมยิงถล่มใส่ไทยหนักด้านวัดท่าพระเมรุ และโดยพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระที่นั่งประจำพระองค์พระเจ้าเอกทัศยอดปราสาทพังลง แสนไปช่วยพ่อที่ประจำอยู่ปืนใหญ่บนเชิงเทินและยิงใส่ตรงที่อลองพญาตั้งทัพอยู่ ลูกปืนใหญ่ตกใส่จุดที่อลองพญาอยู่ และโดนอลองพญาบาดเจ็บจนทัพม่านต้องถอย ทัพไทยใจฮึกเหิมขึ้นทันที ไล่ตามตีท้ายทัพม่าน อีกไม่นานต่อมาจึงได้ข่าวจากเมืองตากว่าอลองพญาสิ้นชีวิตในเขตแดนไทยแถบด่านแม่ละเมา ข่าวอลองพญาสิ้นเป็นที่สำเริงแก่โสตของชาวไทยทุกผู้ โดยเฉพาะพระเจ้าเอกทัศทรงเรียกหาข้าคนมาแต่งเครื่องพิชัยสงครามให้เพื่อจะออกตรวจเชิงเทินร่วมกับขุนหลวงหาวัด ผู้ที่โผล่เข้าไปรองพระยุคลบาทคือจมื่นศรีสรรักษ์ราช สอพลอคู่พระทัย และเมื่อพระเจ้าเอกทัศทรงปรารภจะให้ขุนหลวงหาวัดไปพ้นทางจมื่นศรีฯ ก็ออกความเห็นว่าขุนหลวงหาวัดทรงเป็นคนละเอียดอ่อน ไม่จำเป็นต้องกระทำการใดรุนแรง เพียงแค่เอาประแสงดาบเปลือยฝักวางพาดบนตัก แค่นี้ขุนหลวงหาวัดก็จะทรงทราบแล้วว่า พระองค์จะรับภาระการครองราชย์ดังเดิม พระเจ้าเอกทัศทรงทำตาม และก็ได้ผลจริงดังจมื่นศรีฯ ว่า ขุนหลวงหาวัดกลับไปผนวชดังเดิม
:: การศึกสงบ แสนจึงคิดบวชเพื่อให้พ่อแม่เห็นชายผ้าเหลืองก่อนที่บ้านเมืองจะวุ่นวายอีก เรณูนวลมาร่วมงานฉลองนาคที่บ้านแสนด้วย แสนไม่กล้าแม้แต่จะมองเธอ เกรงสายตาจะบอกความในใจให้แขกเหรื่อรู้สิ้น คำอธิษฐานของเรณูนวลนั้นสนิทแนบเนียนนัก ยากที่ใครจะรู้ว่าเธอเปิดใจถึงแสน เธอขอให้การบุญที่เธอได้ทำในวันบวชนั้นส่งผล แม้จะไม่ถึงสวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติ แต่ขอให้สมบัติมนุษย์จงสำเร็จแก่เธอ หากเธอปรารถนาการอันใดและมิได้เบียดเบียนผู้ใดก็ขอให้ได้ดังประสงค์ แต่หากเธอมีปรารถนาสิ่งใดขออย่าได้มีกระแสนกรรมพัดพาสิ่งนั้นเข้ามากล้ำกรายเธอ แสนเข้าใจความหมายของเรณูนวลและได้แต่อธิษฐานตอบอยู่เพียงในใจในสิ่งเดียวกันคือ ขอให้สมปรารถนาในการครองคู่กับเรณูนวล และหากผิดขากเธอแล้วจะมิขอพบพ้องด้วยหญิงใดเลย
:: นายสุจินดาไปนอนเป็นเพื่อนพระแสนที่วัดได้ไม่กี่วัน ก็มีพระราชโองการให้ไปช่วยราชการทางเมืองเหนือตามคำกราบบังคมทูลขอของพระยาพิษณุโลกพ่อ ของเรณูนวล โดยนายสุจินดาจะต้องไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ในขณะที่พระยาพิษณุโลกขึ้นไปช่วยรักษาลานนา แต่เมื่อไปประจักษ์ว่าลานนาตกอยู่ในเงื้อมมือม่านสิ้นแล้ว พระยาพิษณุโลกก็ไม่เห็นประโยชน์อันใดที่ทัพไทยจะไปยันช่วยได้ จึงแจ้งไปยังกรุงศรีฯ และยกทัพกลับ
:: แสนลาสิกขามานานจนผมยาวเต็มทีแล้ว แต่ก็ยังมิอาจจัดการเรื่องสู่ขอเรณูนวลได้ เพราะยังไม่มีช่องทางที่เหมาะสม จนนายสุจินดาถามขึ้นในวันหนึ่งว่าจะเอา อย่างไร เนื่องจากฝ่ายหญิงเอกก็ถามมา ด้วยว่าพระเจ้าแผ่นดินก็เริ่มมองดอกไม้งามดอกนี้แล้ว แต่ติดที่สนมเอกสองนางเพ็ญและแมนยังกีดกันเต็มแรง แสนกังวลยิ่งนัก แต่จุดประสงค์จริงแท้ของนายสุจินดามิใช่อยู่ที่คำตอบของแสน เนื่องจากเขารู้ใจแสนดีอยู่แล้ว หากแต่จะมาบอกเรื่องพระยาพลเทพตัวร้ายรู้เรื่องที่เรียมไปพบกับนาย และไปหานายสุจินดาเพื่อหยั่งว่านายสุจินดาจะบังอาจเอื้อมลอบรักกับเรณูนวลหรือไร นายสุจินดารู้ว่าพลเทพระแวงเพราะหากตระกูลใหญ่และกล้าแข็งอย่างตระกูลบ้าน สุวรรณของนายสุจินดาเกี่ยวดองกับตระกูลของเจ้าเมืองใหญ่ผู้ทรงอำนาจอย่างพระยาพิษณุโลกแล้ว ก็จะกลายเป็นตระกูลใหญ่ที่มีนักรบระดับนายทัพนายกองฝีมือกล้าง แข็งยิ่งล้ำยากที่ใครจะล้มได้ อันจะไม่เป็นผลดีต่อใครก็ตามที่เป็นศัตรูและไม่เป็นผลดีต่อราชบัลลังก็ด้วย ความระแวงของพระยาพลเทพครั้งนี้ ยิ่งทำให้ภาพการเป็น ไส้ศึกให้พวกม่านชัดขึ้น และส่อเค้าว่าจากนี้นายสุจินดาและเรียมจะถูกพระยาพลเทพสั่งสอดแนมตลอดแน่นอน และจะทำให้โอกาสที่แสนจะได้พบกับเรณูนวลนั้นยากยิ่ง
:: แต่แสนก็มีโอกาสพบเรณูนวลอีกครั้งโดยความช่วยเหลือของสนมเอกทั้งสองของพระเจ้าเอกทัศซึ่งแสนจำยอมทำดีด้วยทั้ง ๆ ที่รังเกียจนัก ในช่วงเวลาอันน้อยนิดแสนและเรณูกอดพรอดรักและย้ำสัญญาใจต่อกันจนแน่ใจว่าต่างคนต่างไม่ระแวงใด ๆ ต่อกัน แม้ว่าจากนี้ไปจะมิมีโอกาสได้พบกันอีกก็ตาม และเรื่องที่แสนรักกับเรณูนวลนี้ก็เริ่มถูกเผยเมื่อพระยาพลเทพคิดสะระตะแล้วว่า หากมิใช่นายสุจินดาหมายเรณูนวลไว้เองก็ต้องหมายไว้ให้ผู้รับชอบใกล้ชิดคือแสน พระยาพลเทพยกเรื่องนี้มาขู่จมื่นศรีฯ พ่อเลี้ยงของแสนเมื่อจมื่นศรีฯ มีทีท่าว่าเอาใจออกห่าง มิยอมร่วมทำการฉ้อฉลทุจริตด้วยอีก จมื่นศรีฯ ตกใจกลัวจนต้องมาออกปากกับครอบครัวแสนตอนที่มาบอกข่าวที่รู้มาจากพระยาพลเทพว่ามังลอกสิ้นแล้ว กรุงศรีฯ ต้องรับศึกม่านอีก
:: พ่อของแสนสะดุดใจนักที่พระยาพลเทพรู้เรื่องมังลอกสิ้นชนมชีพได้เร็วมาก จึงสันนิษฐานว่า พระยาพลเทพน่าจะมีหน่วยลาดข่าวของตนเองและต้องมีสัมพันธ์โยงใยกับม่านแน่นอน เมื่ออลองพญาสิ้นแล้วนั้น มังลอก บุตรชายหัวปีขึ้นครองกรุงอังวะต่อ แต่ฝีมือการรบนั้นอ่อนกว่าบิดามาก หุยตองจา มอญเจ้าเมืองทวาย จึงไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่ออังวะและเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าเอกทัศ กรณีหุยตองจานี้เป็นดังอีกาคาบไฟมาทิ้งใส่กรุงศรีอยุธยา มังลอกครองราชย์ได้เพียงสี่ปีก็สิ้น มังระน้องคนถัดไปขึ้นครองต่อ และถือเอากรณีหุยตองจาเป็นเหตุในการส่งทัพมาตีไทย ทัพม่านตีและปล้นสดมภ์เข้ามาสองด้าน เนเมียวสีหบดี เข้ามาทางเหนือ มังมหานรธา เข้ามาทางตะวันตก หัวเมืองรายทางและหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อยของไทยแตกย่อยยับเพราะครั้งนี้ทัพม่านเข้ามาเหมือนโจรเข้าปล้นสดมภ์ทรัพย์สินมากกว่าจะเข้าทำศึก เพื่อขยายอาณาจักร เรือของบ้านแสนที่ไปค้าขายและผ่านแถบทวาย มะริด ตะนาวศรี ถูกม่านปล้นเอาทรัพย์สินและยึดเรือ ลูกเรือที่หนีกลับกรุงศรีฯ ได้บอกกับพ่อแสนว่าใหอพยพหนีเพราะเห็นแล้วว่าศึกครั้งนี้จะหนักเหลือกำลังที่กรุงศรีจะรับ
:: นายสุจินดาขึ้นเหนือไปร่วมรบกับพ่อของเรณูนวล คุณใหญ่ยังอยู่ที่ราชบุรี พระยาตากถูกเรียกตัวเข้ากรุงศรีฯ และมอบหมายให้ไปรับศึกด้านเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) และแสนได้ไปกับทัพของพระยาตากด้วย แสนตั้งขอสังเกตเงียบ ๆ ว่าพระยาตากที่ได้พบครานี้หลังจากไม่เคยพบกันนับแต่ท่านออกไปอยู่หัวเมืองนั้น มีสง่าราศียิ่ง แต่ดูเศร้าและเคร่งเครียดผิดจากคุณกลางเมื่อครั้งเป็นหนุ่มน้อย แสนรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระยาตากด้วยฝีมือฉกาจฉกรรจ์และขับไล่ข้าศึกไปจากเขตไทยได้ พระยาตากได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ก็ยังมิได้ไปนั่งเมืองเนื่องจากต้องรบต่อ นายสุจินดามีโอกาสกลับมากรุงศรีฯ เนื่องจากพระยาพิษณุโลกเห็นว่าศึกที่เข้ามาครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก จึงให้นายสุจินดามาส่งข่าวเรณูนวลให้หาทางขยับขยายลาออกจากวังแล้วนายสุจินดาจะพากลับพิษณุโลกหรือให้ไปหลบอยู่ในที่ปลอดภัย
:: ทัพม่านทั้งสองทัพเคลื่อนโอบล้อมใกล้กรุงเข้ามาทุกขณะ และตีหัวเมืองและหมู่บ้านตามรายทางแตกเรียบ แต่เมื่อมาถึงบ้านระจัน คนไทยนับพันจากเมือง วิเศษไชยชาญ เมืองสิงห์ และเมืองสุพรรณ รวมตัวกันตั้งค่ายสู้รบยันพวกม่านไว้ได้นานถึงสี่เดือน และมีใบบอกไปยังกรุงศรีฯ ขอปืนใหญ่ไปสู้กับม่าน แต่ใบบอกนั้นเงียบ หายไปถึงสามครั้งสามครา แต่คราที่สี่จึงถึงมือพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งเข้าเวรอยู่ ณ ศาลาลูกขุน พระยารัตนาธิเบศร์แปลกใจว่าตัวเองเหมือนจะเคยได้ยินว่าใบบอกเช่นนี้เคย มีมาแล้ว แล้วหายไปไหน แสนบอกว่าเคยได้ยินว่าอยู่ที่พระยาพลเทพ และพระยาพลเทพพูดไม่ใส่ใจ พูดแต่ว่าชาวบ้านระจันเป็นแค่ซ่องโจร มิใช่ผู้กล้าที่ต้านม่านแต่อย่างใด แสนหาทางเข้าพบเจ้าจอมเพ็ญ ขอให้ตนได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเรื่องใบบอกของชาวบ้านระจัน และก็สำเร็จ พระเจ้าเอกทัศทรงอนุญาตให้ส่งปืนไปให้ชาวค่ายบ้านระจัน ตามที่ทูลขอ แต่ในคืนนั้นที่ประตูเล็กท้ายวัง มีร่างหนึ่งดูไม่ออกว่าหญิงหรือชาย แต่ร่างนั้นใหญ่เกินหญิงคลุมศรีษะและหน้าตามาลอบพบกับร่างหนึ่งจากในวัง ซึ่งเมื่อแรกดูไม่ออกเช่นกันว่าหญิงหรือชายเพราะคลุมผ้าดำตลอดร่าง ต่อเมื่อพบพูดจากกันจึงเผยออกว่าร่างจากนอกวังนั้นคือพระยาพลเทพ และร่างจากในวัง คือ เจ้าจอมเพ็ญ พระยาพลเทพข่มขู่อย่างผู้อยู่เหนือเจ้าจอมเพ็ญเรื่องที่นำแสนเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขอปืนให้ชาวค่ายระจัน เจ้าจอมเพ็ญแหวว่าตัวเองก็รักชาติบ้านเมืองเช่นกัน ไม่ต้องการให้กรุงเสียแก่ม่าน แต่เมื่อโดนพระยาพลเทพขู่เรื่องจะไม่เอายาเสน่ห์จากพ่อครูเสน่ห์ให้เจ้าจอมเพ็ญอีกต่อไป กับได้ดมน้ำมันที่พระยาพลเทพให้ดม เจ้าจอมจึงอยู่ในอาการมึน ๆ ฟังคำสั่งจากพระยาพลเทพโดยดุษฎี พระยาพลเทพให้เจ้าจอมเพ็ญกราบบังคมทูลพระเจ้าเอกทัศว่าเธอทนเสียงปืนไม่ได้ไม่ให้ทำศึกด้วย การยิงปืน และไม่ให้ปืนแก่ชาวบ้านระจันซึ่งใช้ปืนไม่เป็น และให้ยาแก่เจ้าจอมเพ็ญไปใส่ในของเสวยให้พระเจ้าเอกทัศ กับให้ยาเสน่ห์แก่เจ้าจอมเพ็ญไว้อีกบ้าง
:: รุ่งขึ้นก็เห็นผลจากการปฏิบัติงานของเจ้าจอมเพ็ญ พระเจ้าเอกทัศทรงเปลี่ยนใจไม่ให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านระจัน แสนปะทะคารมกับพระยาพลเทพอย่างไม่เกรงกลัวพระราชอาญา จมื่นศรีฯ ผู้จะกลับตนเป็นคนดีเพราะแรงความดีของแสนที่ได้ช่วยชีวิตท่านไว้หลายครา กราบบังคมทูลว่า เห็นด้วยที่จะให้ปืนแก่ชาวค่ายระจัน และแสนกราบบังคมทูลว่าจะสอนชาวค่ายระจันให้รู้จักวิธีใช้ปืน เพราะเจ้าเอกทัศจึงทรงโอนอ่อนให้ชาวค่ายระจันมีปืนได้ แต่ต้องหล่อเอง และทรงให้พระยารัตนาธิเบศร์ไปควบคุมดูแล ขุนนางฝ่ายดีทั้งหลายแค้นใจพระยาพลเทพนัก และยิ่งแค้นมากขึ้นเมื่อได้ฟังคำสารภาพจากจมื่นศรีฯ ว่าเจ้าจอมน้องสาวทั้งสองคนของจมื่นศรีฯ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระยาพลเทพเพราะต้องพึ่งยาเสน่ห์จากทางนั้นและต้องคุณไสยมึนเมา ทำให้ขาดสติต้องปฏิบัติตามคำสั่งทุกครั้งไป
:: แต่ถึงชาวค่ายระจันจะได้ปืน ก็มิอาจทานกำลังม่านได้เพราะมีกำลังน้อยกว่า และเพราะมีคนไทยขายแผ่นดินนำข่าวไปบอกเนเมียวสีหบดีว่าค่ายระจันกำลังได้คนจากรุงศรีฯ มาช่วยหล่อปืนใหญ่ ทัพม่านจึงยกเข้าตีก่อกวนมิให้หล่อปืนได้สำเร็จสมบูรณ์ใช้การได้ และยังตัดทางหาเสบียงและทางสื่อสารกับกรุงศรีฯ อีกด้วย อีกทั้งพวกมอญโดยการนำของ สุกี้พระนายกอง ยังแปรพักตร์ไปเข้ากับพวกม่าน ค่ายระจันจึงแตกแม้ว่าจะรบจนสุดใจขาดดิ้นสิ้นฝีมือ แสนร่วมรบกับชาวค่ายระจัน ฆ่าพม่าจนเหลือที่จะนับศพ จนสุดแรงล้าสิ้นสติฟุบบนหลังม้า เมื่อฟื้นขึ้นพบว่าตัวเองนอนอยู่ในข่ายของพระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรบอกว่าจะถืออาญาสิทธิ์เจ้าเมืองเอาตัวแสนไว้ที่ค่ายเพื่อรักษากายที่บอบช้ำสาหัส ส่วนพระยารัตนาธิเบศร์นั้นให้กลับเข้ากรุงไปเพ็ดทูลเอาตัวรอดจากการแตกทัพ และคิดว่าน่าจะรอดเพราะในกรุงขณะนั้นออกจะเละเทะมาก
:: เมื่อเข้าหน้าฝนหน้าน้ำหลาก พระยากำแพงเพชรจึงมีเวลาละจากศึกไปนั่งเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งแรก และมีแสนติดตามท่านไปด้วย แต่ครั้งนี้แม้น้ำจะหลาก ทัพม่านก็ยังมิยกกลับเมือง ยังตั้งคุมเชิงอยู่รอบกรุง ทัพของเนเมียวสีหบดีตั้งที่ปากน้ำพระประสบ ทัพของมังมหานรธาตั้งที่สีกุก พระยากำแพงเพชรนั่งเมืองได้ไม่นาน ก็ถูกเรียกตัวเข้าป้องกันวังหลวงพร้อมกับกองกำลังของท่านอันมีแสนด้วย แสนจึงได้พบกับพ่อแม่อีกครั้งและได้รู้เรื่องที่เรณูนวลหนี้ออกจากวังมาอยู่เป็นเพื่อนแม่นาย กลิ่นจันทน์ตอนรับกันหน้าสิ่วหน้าขวานและพ่อแสนต้องเข้าประจำกำแพงเมืองและเธอยังบอกอีกว่า หากถึงยามคับขันที่สุดและจะอยู่กรุงไม่ได้แล้ว เธอจะหนีออก จากวังมาพาแม่นายกลิ่นจันทน์ไปบ้านเธอที่พิษณุโลก ความกล้าหาญของเรณูนวลชนะใจแม่นายกลิ่นจันทน์อย่างหมดจด เรณูนวลจำต้องอยู่ในวังหลวงเพราะน้าสาวหนี้ ไปซ่อนตัวนอกกรุง ครอบครัวบ้านสุวรรณอพยพไปอุทัยธานี แม่นายกลิ่นจันทน์ฝากสมบัติไปซ่อนที่นั่นด้วย ครอบครัวของจมื่นศรีฯ พ่อเลี้ยงของแสนก็อพยพไปอยู่แถบ บางละมุง นาจอมเทียน แต่ตัวจมื่นศรีฯ ผู้สำนึกผิดแล้วยังอยู่ในกรุงและลั่นปากว่าจะขอตายที่นี่แสนเล่าเรื่องคำทำนายของเถรชราที่ทำนายเรื่องพี่ทั้งสามและแสน ตอนที่แสนยังเด็กให้พ่อแม่ฟังและปฏิญาณกับพ่อว่าจะพาชื่อไทยอยุธยาให้กลับไปเกิดใหม่จะไม่ยอมให้ยศแห่งอยุธยาล่ม
:: ความเลวของพระยาพลเทพปรากฏขึ้นชัดทุกที พระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนมิทรงทราบ และยังทรงพระสำราญเหมือนบ้านเมืองไม่มีการศึกใด ๆ ขุนหลวงหาวัดคราวนี้มิเอาธุระแผ่นดินอีกแล้ว ไม่ว่าชาวเมืองจะไปใส่บาตรด้วยฎีกามากมายเพียงใดก็ตาม เพราะทรงโกรธพระเชษฐาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านสึกออกมารักษากรุงให้แล้วมาเปลือยประแสงดาบขู่ท่าน ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่ากรมหมื่นเทพพิพิธหรือพระองค์แขกซึ่งทรงถูกกระเจ้าเอกทัศเนรเทศไปเกาะลังกา กลับมาส้องสุมผู้คนอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี จึงมีผู้คนไปสมทบกับพระองค์ท่านมากมาย รวมทั้งพระยารัตนาธิเบศร์ด้วย
:: ข่าวมังมหานรธาแม่ทัพผู้กล้าแข็งของม่านเสียชีวิตทำให้คนไทยดีใจและระเริงกันมาก หากแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานเตือนไม่ให้ระเริง เพราะการที่มังมหานรธาตายไป จะทำให้เนเมียวสีหบดีมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบัญชาทัพแต่เพียงผู้เดียว ปราศจากผู้ขัดแย้งดังแต่ก่อน ทัพม่านจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวยิ่งกว่าเมื่อครั้งมีแม่ทัพสองคน และก็จริงดังคำผู้เฒ่าว่า ม่านยึดที่ดอนทุกที่นอกกรุงเป็นที่ตั้งทัพและปืนใหญ่ ระดมยิ่งเข้ากรุงศรีฯ เป็นระยะ ๆ ทุกวัน ปักหลักรอเวลาน้ำลดอย่างอดทน เมื่อชาวเมืองเห็นว่าครานี้น้ำที่หลากนองมิได้ทำให้ข้าศึกล่าถอยดังแต่ก่อน จึงต่างเก็บทรัพย์สมบัติฝังซ่อน บ้านก็อพยพไปหาที่หลบภัย ส่วนผู้ที่ยังอยู่ก็เหงาหงอยไม่มีแก่ใจจะรื่นเริงใดๆ อยุธยาเงียบเชียบเหมือนเมืองร้าง พวกผู้หญิงที่อยู่ใกล้ขอบกำแพงพระนครต่างตัดผมสั้นแต่ตัวด้วยสีที่เก่าคร่ำคร่า ไม่ให้ดูออกว่าเป็นหญิงหรือชาย
:: ทหารกล้าทุกผู้ต่างรู้ชะตาเมืองคงขาดในครานี้ แต่ก็ยังพร้อมรบเพื่อบ้านเมือง แม้จะต้องทนกับการถูกบั่นทอนกำลังใจจากพระยาพลเทพเสนาบดีโฉดชั่วผู้ทรยศต่อแผ่นดินเกิด พระยาพลเทพกราบบังคมทูลอาสาเป็นผู้บัญชากองปืนใหญ่รอบกำแพงพระนคร ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั้นเป็นจตุสดมภ์กรมนา ไม่มีหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับการทหารเลย สั่งให้ขออนุญาตลูกขุน ณ ศาลาก่อนยิงปืนใหญ่ทุกครั้ง และสั่งห้ามประจุดินปืนเต็มพิกัด โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้เสียงปืนดังมาก บรรดาท้าวนางในวังจะตกใจกลัว แต่เมื่อม่านระดมยิงใส่ทุกวันจนเหลือที่จะทน หลวงพระยาอภัยศรเพลิง จึงสั่งยิงตอบโต้โดยทั้งมิขออนุญาตและทั้งประจุดินปืนเต็มที่ แต่ก็ยังโชคดีมิถูกลงราชอาญาเป็นแต่มีคำสั่งว่าต่อไปให้ประจุดินปืนแต่น้อย ให้ยิงพอมีเสียงแปะ ๆ ไม่ให้หนวกหูท้าวนางข้างใน พระศรีสุรยพาหะ ผู้คุมปืนใหญ่ประจำป้อมซัดกบสุดที่จะทนคับแค้นอยู่ได้ จึงไปปรารภกับพ่อของแสน ด้วยหวังจะให้แสนรับรู้ด้วย เผื่อว่าแสนจะนำความไปปรารภกับจมื่นศรีฯ และเผื่อจมื่นศรีฯ จะได้นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวบ้าง พ่อของแสนลั่นปากอย่างหนักแน่นว่า หากข้าศึกรุกหนัก เขาจะยิงปืนใหญ่สู้โดยมิเกรงอาญาหลวงเป็นอันขาด และตอนนี้ก็เตรียมการที่จะเผาลูกปืนดินเผาอยู่แล้ว แต่จะลงมือเผาก็ต่อเมื่อเข้าหน้าสิ่วหน้าขวานจริง ๆ เพราะหากทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ เกรงจะมีคนปากบุกซุกปากบอนไปกราบเรียนเสนาบดีว่าซ่อมสุมศัสตรวุธต้องห้าม พระศรีสุรยพาหะจึงกลับไปด้วยความสบายใจว่ายังมีคนจริงร่วมใจในการรักษาพระนคร
:: แสนประจำอยู่กองทัพของพระยากำแพงเพชรซึ่งคุมทัพรักษาพระนครด้านทิศตะวันออกที่เกาะแก้ว แสนรู้จักนิสัยพระยากำแพงเพชรดีว่าเอาจริงเอาจังกับการ รบอย่างสุดชีวิตจิตใจเพียงใด ท่านมิใช่พวกตั้งรับข้าศึกอย่างเดียว หากแต่ชอบที่จะรุกไล่ด้วย การออกไปทัพกับท่านถึงเกาะแก้วครานี้ กว่าจะได้กลับเข้าพระนครก็คงอีกแสน นาน หรือไม่ก็อาจไม่ได้กลับเลยหากเสียทีข้าศึก หรือเสียชีวิต แสนจึงหาทางไปพบเรณูนวลก่อนที่จะออกไปเกาะแก้ว โดยไปดักพบเรียมที่ตลาด เรียมเห็นแสนก็รู้ทันทีว่ามา ตามหาเธอด้วยเรื่องอะไร พูดนัดแนะกับแสนเป็นนัยที่รู้กันเฉพาะสองคน ว่าเธอจะพาเรณูนวลไปพบกับแสนที่บ้านหอรัตนชัย เรณูนวลและแสนพบและลากันด้วยเสน่หา อาลัยล้ำ เรณูนวลเล่าให้แสนฟังถึงวิกฤตในวังว่าเจ้าจอมทั้งสองคนเริ่มออกอาการเหมือนคนถูกปีศาจเข้าสิง ยามวิปริตก็เพ้อว่าตนเองเป็นเจ้านางศรีสุดาจันทร์ แล้วสั่งห้าม ยิงปืน แต่พออีกเดี๋ยวก็ล้มฟาดแล้วฟื้นมาเป็นตัวเอง ร้องไห้สงสารชะตาเมือง ท้าวนางข้าในให้ตามคนทรงมาเข้าทรง คนทรงบอกว่าพระเสื้อเมืองทรงเมืองและเทพยดา รักษากำภูฉัตรเสด็จหนี้ไปสิ้นแล้ว ขวัญเมืองไม่มีผู้ใดรักษาแล้ว คำของคนทรงทำให้เรณูนวลสยองใจจนปลงตก แต่เธอก็ยังบอกแสนไม่ให้ห่วงหน้าพะวงหลัง ให้แสนตั้ง ใจรบ ส่วนเธอหากต้องสู้ก็จะสู้จนตัวตาย จะมิยอมให้ข้าศึกได้ตัวเธอเป็นอันขาด แต่หากมีหนทางหนี เธอจะพาแม่ของแสนไปให้ถึงบ้านเธอที่พิษณุโลกให้ได้ เธอขอ แต่คำมั่นจากแสนเท่านั้นว่าหากยังมิได้ข่าวแน่ชัดว่าเธอเป็นหรือตายก็ขออย่าได้รับหญิงใดเป็นภรรยา หากเธอได้ยินว่าแสนมีภรรยา เธอจะส่งแม่ของแสนคืนและตัวเธอ จะไปบวชชี แสนบอกว่าเขาและเธอรักกันในยามยากที่บ้านเมืองวิกฤต ความรักนั้นมีค่ายิ่งกว่าความรักตามปกติในยามปกติ ขอให้เรณูนวลเชื่อว่าหากเขายังไม่ได้ข่าวเรณูนวล เข้าจะไม่ยินดีด้วยหญิงใดเป็นอันขาด
:: กองทัพของพระยากำแพงเพชรเป็นกองทัพที่มีทั้งทหารจีนและไทย แต่ก็เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพราะศูนย์กลางน้ำใจรวมอยู่ที่ตัวท่าน ท่านปลุกใจลูกทัพท่านให้ฮึกเหิมสู้ศึก ท่านลั่นวาจาเป็นเด็ดขาดว่า แม้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังเก่าจะต้องพังลง ท่านก็จะไปรวบรวมกำลังสร้างบ้านใหม่ขึ้นบนแผ่นดินเดิมนี้ เพราะนี่คือแผ่นดินของไทย ท่านจะต้องกู้เกียรติกรุงไทยกลับคืนมาให้ได้
:: ราวบ่ายควายหรือบ่ายสามโมง อันเป็นเวลาที่ชาวอยุธยาหุงหาอาหาร ทัพม่านจะระดมยิงรบกวนทุกวันเพื่อมิให้ชาวเมืองหุงหากินกันได้สะดวก เมื่อทัพของ พระยากำแพงเพชรไปตั้งอยู่ที่เกาะแก้ว พระยากำแพงเพชรให้แสนยิงตอบโต และก็ได้ผลทั้งสองทาง ผลทางฝ่ายข้าศึกคือค่ายด้านหนึ่งพังและทหารม่านตายไปไม่น้อย ส่วนผลทางฝ่ายไทยคือ มีเรือด่วนออกมาจากกำแพงพระนคร หมื่นยงพลพ่าย ถือใบบอกมาให้พระยากำแพงเพชร ถ้อยความในใบบอกทำให้พระยากำแพงเพชรหัวเราะออก มาด้วยความแค้น และเปรยให้ลูกทัพทั้งหมดรับรู้ด้วยว่าใบบอกนี้มาเพราะเสียงปืนที่ลูกทัพยิงนั้นรบกวนโสตประสาทของคุณข้างในที่มีทั้งผู้ "รัญจวนหู" และ "รัญจวนครรภ์" นับว่าทัพของท่านทำไม่ถูกกาลเทศะ ด้วยพระยากำแพงเพชรถูกคาดโทษว่าหากสั่งยิงอีกโทษท่านถึงคอขาด และให้พระยากำแพงเพชรทำใบบอกตอบ ไปด้วย ใบบอกตอบนี้จะถือว่าเป็นหนังสือทัณฑ์บนของพระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรให้แสนเป็นผู้เขียนใบบอกตอบ แสนโกรธจนสั่นไปหมด แต่ก็พยายามบังคับ มือให้เขียน บังคับสมองให้คิดถ้อยคำที่จะไม่ระคายหูลูกขุน ณ ศาลาตามที่พระยากำแพงเพชรสั่ง หมื่นยงพลพ่ายนั้นถึงจะเห็นว่าพระยากำแพงเพชรเป็นฝ่ายถูกก็มิกล้าเอ่ยคำ เพราะกลัวว่าฝีพายที่พายเรือมาให้อาจเอาไปกล่าวโทษให้ตนเดือดร้อนได้ เนื่องจากเวลานี้ในวังหลวงมีแต่การอิจฉาริษยากล่าวโทษกันไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นศึกในที่ใหญ่ หลวงมิแพ้ศึกนอกเลย เมื่อหมื่นยงพลพ่ายไปแล้ว รอยยิ้มของพระยากำแพงเพชรหายวับไปทันใด เพราะเหลือจะเจ็บใจในคำสั่งอันมิชอบมิธรรมนั้น ท่านให้ลูกทัพตัดสินใจ ใครที่อยากกลับบ้าน ท่านอนุญาตให้กลับ ใครอยากอยู่ (ตาย) ที่พระนครก็ได้ แต่หากใครอยากอยู่กับท่านก็ต้องวางใจให้ท่านเป็นหนึ่งแน่ เด็ดเดี่ยว ให้วางใจว่า มิเร็วมิช้า ท่านจะทิ้งอยุธยาแล้วมุ่งหน้าไปหาที่ตั้งหลักใหม่ ท่านบอกว่าอยุธยาพังได้ แต่ก็สร้างใหม่ได้ แต่ชาติไทยคือว่าคนอันมีเลือดเนื้อเป็นไทยนี้จะต้องไม่พังไม่ตาย พระยา กำแพงเพชรให้ทางเลือกแก่ทุกคน และเมื่อเลือกแล้วถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการต่อรอง ทหารทุกคนเลือกที่จะติดตามพระยากำแพงเพชร
:: ก่อนน้ำลดสองวันมีพระบรมราชโองการมาถึงพระยากำแพงเพชร ถือได้ว่าเป็นพระบรมราชโองการครั้งสุดท้ายที่มีถึงท่านและท่านไม่สามารถปฏิบัติให้ลุล่วง ได้ คือ คำสั่งให้ทัพของพระยากำแพงเพชรเป็นทัพหนุนคอยช่วยกองเรืออันมี พระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้า และ หลวงศรเสนี เป็นผู้คุมปืนใหญ่ โดยกองเรือนี้จะไปตั้งสกัด ข้าศึกที่วัดป่าแก้ว พระยากำแพงเพชรนัดแนะการส่งกำลังหนุนกับพระยาเพชรบุรีว่าเมื่อพระยาเพชรบุรีต้องการกำลังหนุนจากพระยากำแพงเพชรก็ให้สัญญาณด้วยการ ล่าถอยเข้าคลองเล็กคลองน้อยแทนการส่งสัญญาณโจ่งแจ้ง ข้าศึกจะได้ไม่รู้ตัว อย่าได้กังวลว่าจะดูเหมือนแตกทัพ เพราะเมื่อกองเรือถอยนั้นจะได้พักเอาแรงได้ไม่รู้ตัว เมื่อหายเหนื่อยแล้วจะได้ไปสมทบร่วมรบกับกองของพระยากำแพงเพชรต่ออีก จะมีผลดีกว่าการแยกกองกันรบ แต่พระยาเพชรบุรีไม่ยอมทำตามข้อเสนอของพระยา กำแพงเพชร และดื้อดันออกไปยิงกับข้าศึกต่อ ชั่วไม่ถึงหม้อข้าวเดือด กองเรือของพระยาเพชรบุรีก็ถือกองเรือของม่านที่ซุ่มอยู่โจมตีอย่างหนัก ถึงจะฆ่าข้าศึกได้มากมาย แต่ในที่สุดแล้วทัพของพระยากำแพงเพชรก็มิอาจช่วยทัพของพระยาเพชรบุรีได้เนื่องจากการขาดเรือใหญ่ มีแต่เรือเล็กที่ขนคนได้แค่ลำละห้าหกคนเท่านั้น พระยาเพชรบุรี ตายในการรบ ร่างกายแหลกไม่มีชิ้นดี เพราะฝ่ายม่านยิงปืนเข้าใส่เรือของท่านซึ่งมีถังดินปืนอยู่และดินปืนทั้งถังระเบิด พาเอาทหารม่านมากมายที่รบติดพันกันอยู่ตายไปด้วย พระยากำแพงเพชรให้ลูกทัพของท่านไปรวมพลที่วัดพิชัย เพราะแถบนั้นมีข้าศึกอยู่เบาบางที่สุด และเป็นจุดที่จะตีฝ่าออกไปลงสู่เมืองบางกอกอันเป็นทางตัดออกปากน้ำเมือง สมุทรได้ แผนของพระยากำแพงเพชรคือจะไปตั้งหลักแถบหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งท่านคาดว่ากองทัพม่านจะไปไม่ถึง แต่ท่านจะยั้งทัพอยู่ที่วัดพิชัยนี้ก่อน เผื่อว่าเกิดปาฏิหารย์ใดทำให้ป้องกันกรุงศรีอยุธยาไว้ได้จากข้าศึก ท่านก็จะทำและจะรอรับราชอาญาที่ปล่อยให้พระยาเพชรบุรีตาย แต่เมื่อใดที่ข้าศึกเข้าล้อมกำแพงกรุงได้ ทั้งสี่ด้านแล้ว เมื่อนั้นท่านจึงจะนำทัพเคลื่อนไปยังฝั่งทะเลตะวันออก พระยากำแพงเพชรตั้งจิตพิษฐานว่า หากท่านยังมีบารมีที่จะกลับมากู้แผ่นดินเกิดแล้ว ขอให้เทพยดา แหวกช่องทางให้ไปรอด จับสิ่งใดเข้าก็ให้สำเร็จผล ปรากฏเกียรติและบารมีจนได้บำรุงแผ่นดินสืบไป เมื่อพิษฐานจบ มีดวงแสงช่วงโชติปรากฏขึ้นท่ามกลางแสงตะวัน วนเวียนเป็นทักษิณาวรรตสามรอบอยู่เหนือลำน้ำ แล้วจึงเคลื่อนลับไปเบื้องตะวัน
:: เดือนยี่ ขึ้นสี่ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 ข้าศึกล้อมกระชั้นมาจ่ออยู่ริมคูพระนครทุกด้าน พระยากำแพงเพชรกับสมัครพรรคพวกราวห้าร้อยคนตัดออกจากค่ายวัดพิชัยมุ่งสู่บูรพาทิศ ยามนั้นเป็นเวลาพลบค่ำ มืดสนิท ด้วยเดือนยังมิทันขึ้น หัวใจทุกดวงของผู้ที่จะทิ้งบ้านเกิดหดหู่ยิ่งนัก แต่เมื่อมองยอดมหาปราสาทอันแวววาว ใจก็ฮึดขึ้นมาที่จะกลับมากู้บ้านเมืองให้ได้ต่อไป ทุกคนยั้งม้ามองเมืองสั่งลาเป็นครั้งสุดท้าย หูแสนแว่วเสียงขับลำนำที่เคยได้ยินจนคุ้นมาตั้งแต่เล็ก จิตก็ประหวัดถึงหญิงอันเป็นที่รักทั้งสองคน คือ แม่และเรณูนวล ต่อเมื่อแว่วเสียงเรียก ทุกคนในกองทัพจึงปาดน้ำตาทิ้งมุ่งหน้าตามพระยากำแพงเพชรไปสู่แสงเรืองด้านบูรพาทิศ
:: จมื่นศรีสรรักษ์ราชผู้กลับตัวกลับใจตัดสินใจที่จะตายอยู่กับแผ่นดินพระนคร ดังนั้นเมื่อมีพระราชโองการให้เข้าเฝ้าจมื่นศรีฯ จึงกราบบังคมทูลอาสาออกรบกับข้าศึก ทำความขบขันให้แก่พระเจ้าเอกทัศและพระยาพลเทพยิ่ง พระเจ้าเอกทัศขันอย่างโปรดปรานเอ็นดูว่ากรมวังผู้ขี้กลัวอย่างจมื่นศรีฯ คราวนี้กลับกล้าอาสาออกรบเพื่อบ้านเมือง ส่วนพระยาพลเทพขันอย่างประชดประเทียดเสียดสีเร่งให้ออกไปตาย และเมื่อพระเจ้าเอกทัศทรงตำหนิ พระยาพลเทพกราบทูลว่าได้เคยถวายคำแนะนำแล้วว่าให้พระเจ้าเอกทัศทรงยกอยุธยาเป็นเมืองออกแก่พระเจ้ากรุงอังวะ แล้วพระองค์มิทรงทำตาม จนมาบัดนี้ผู้คนสู้ศึกล้มตายจนหมดเมืองอยู่แล้วเพราะคำกราบบังคมทูลของเสนาบดีบางคนที่ให้สู้ตาย ถ้อยความท้ายนี้พลเทพเสียดสีทั้ง จมื่นศรีฯ และจมื่นไวย พลเทพจึงโดนจมื่นไวยฯ เชือดเอาด้วยวาจาและเปิดโปงต่อพระพักตร์พระเจ้าเอกทัศว่าพลเทพเป็นไส้ศึกให้อังวะ และชักนำเอาพวกเถนลามกเข้ากรุงมาทำเสน่ห์ยาแฝดมอมเมาบรรดานางในและเอายามนตร์ให้พระเจ้าเอกทัศเสวยจนมึนเมาตกอยู่ใจ้คำชักจูงทุกอย่างของพลเทพ พลเทพทั้งตกใจทั้งโกรธที่จมื่นไวยรู้ความลับของตน ทั้งคู่ทุ่มเถียงกันต่อหน้าพระพักตร์ จมื่นไวยฯ กราบบังคมทูลว่าจะออกรบร่วมกับจมื่นศรีฯ ส่วนพลเทพนั้นจมื่นไวยทูลเสียดสีว่าให้อยู่วังคอยเป็นฑูตเจรจาหย่าศึกกับกรุงอังวะ เผื่อจะได้ไปเป็นใหญ่เป็นโตต่อไปในกรุงอังวะให้มีชื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์สกุลต่อไป พลเทพโกรธแทบจะวางมวยกันต่อหน้าพระพักตร์ พระเจ้าเอกทัศไล่ออกจากที่เฝ้าทั้งหมด จมื่นไวยกล่าวอาฆาตพลเทพให้ระวังซ่อนตัวจากจมื่นไวยให้มิดชิด วันใดที่พลเทพจะไปเปิดประตูเมืองให้แก่ศัตรูก็ให้หลบหลีกจมื่นไวยให้จงดี เพราะจมื่นไวยจะตามหาตัวพลเทพจนพบ และหากพบที่ใดที่นั้นก็เป็นที่แลกชีวิตกัน
:: จมื่นศรีนำทาสชายที่ยังเหลืออยู่ที่บ้านออกรบกับข้าศึกจนตัวตาย แต่ก่อนตายก็ฆ่าข้าศึกได้ไม่น้อย จมื่นไวยไปที่บ้านพ่อของแสนเพื่อบอกให้บ้านนั้นอพยพหนี้ เมื่อเห็นว่าเรณูนวลอยู่ด้วยและเตรียมพาแม่นายกลิ่นจันทน์อพยพอยู่แล้ว จมื่นไวยจึงมอบตำราสำคัญสามเล่มและดาบคู่มือให้แก่แสน ตัวทานนั้นจะกลับเข้าวังหลวงส่งพระเจ้าเอกทัศหนี้เพื่อว่าเมื่อข้าศึกตีเข้ากรุงได้พระองค์จะได้ไม่ถูกจับเป็นเชลยให้ถูกเย้ยไยไพ และหลังจากส่งเสด็จหนี้แล้วจมื่นไวยจะสู้ตาย จมื่นไวยบอกว่าดูดวงชะตากรุงแล้ว กรุงแตกแก่อังวะแน่นอนในวันเนาวันสงกรานต์ และบอกให้พ่อของแสนหนี้ไปด้วย แต่พ่อของแสนบอกว่าขอตายอยู่กับแผ่นดินอยุธยา
:: จมื่นไวยกลับเข้าเมืองและเห็นลางร้ายที่ส่อเค้าว่ากรุงศรีอยุธยาจะล่มแน่นอนคือที่ยอดนภศูลพระมหาปราสาทมีนกเหยี่ยวถูกเสียบตายอยู่ตัวหนึ่งและ หมอกธุมเกตุหรือฝุ่นดินเหลือกลุ้มตลบตัวเมือง ข้าศึกระดมยิงปืนเข้าในกำแพงเมืองถี่ยิบ ชาวเมืองต่างอพยพหนี้ตายร้องระงมลั่นทั้งเมือง จมื่นไวยเข้าในพระบรมมหาราชวัง ชาววังต่างร่ำไห้ระงมเช่นกันและขนข้าวของหลบไฟไหม้หลบลูกปืนกันโกลาหล จมื่นไวยไปยังท้องพระโรงเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกทัศ เจอพระยาพลเทพฉีกยิ้มเย้ยอยู่ จมื่นไวยฯ สู้สะกดกลั้นไม่ฟันพลเทพ ทั้ง ๆ ที่อยากนัก กล่าวอาฆาตพลเทพว่าจะรอคิดบัญชีกับพลเทพในวันเนาสงกรานต์ แต่ะจไม่ให้พลเทพตายเพราะความตายนั้นสะดวก ดีเกินไป สำหรับคนอย่างพลเทพ พลเทพออกจะกลัวในความจริงจังของจมื่นไวย
:: ท้องพระโรงมืดสลัว พระเจ้าเอกทัศประทับนิ่งเหม่ออยู่ในภวังค์บนพระแท่นใต้พระมหาเศวตฉัตร จมื่นไวยไปหมอบแทบพระบาทมองท่านแล้วน้ำตาไหลริน ที่มุมท้องพระโรงมีมหาดเล็กอีกสองคนหมอบอยู่ด้วย เป็นที่จมื่นไวยคัดแล้วว่าวางใจได้ จะให้พาพระเจ้าเอกทัศหนี จมื่นไวยกราบทูลเชิญพระเจ้าเอกทัศหนี แล้วจมื่นไวยก็ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเห็นคือ ขัตติยมานะของพระองค์ พระองค์ไม่ยอมหนี้และคำพูดจากใจจิงของพระองค์สั่นหัวใจของจมื่นไวยยิ่งนักแต่จมื่นไวยจะยอมให้ข้าศึกจับพระองค์เป็นเชลยมิได้ จึงใช้วิธียั่วพระโทสะและก็ได้ผล พระเจ้าเอกทัศทรงโกรธลั่นปากว่าจะออกจากกรุง แต่ครู่ต่อมาทรงคิดด้วยขัตติมานะว่าจะยอมไปเพียงแค่ให้พ้นตาจมื่นไวย แล้วจะทรงลอบกลับมารบกับข้าศึก คงไม่มีใครจำพระองค์ได้ และถึงจะตายกลางศึกก็มิเสียดายพระชนม์ชีพ ก่อนออกจากวังพระเจ้าเอกทัศทรงชวนจมื่นไวยไปฝังซ่อนทรัพย์สมบัติของพระองค์ในห้องลับใต้บ่อน้ำเทียมที่พระองค์ทรงสร้างเตรียมไว้นานแล้ว สมบัติมีค่ามหาศาลของกษัตริย์อยู่ในบ่อน้ำเทียมนี้ทั้งสิ้น พระเจ้าเอกทัศทรงพิษฐานให้ผู้มีบุญเท่านั้นที่จะค้นพบสมบัตินี้ เพื่อเอาไปสร้างเมืองใหม่ และสาบแช่งมิให้ผู้ใจคดและศัตรูได้สมบัตินี้ไป แล้วพระองค์ทรงปิดทางเข้าโดยสิ้น โดยสั่งให้จมื่นไวยฟันเชือกเส้นหนึ่ง เมื่อเชือกเส้นนั้นขาด หลังคาหลายชั้นถล่มลงมาทับปิดร่องรอยบ่อน้ำไว้สิ้น ไม่มีใครจะมีวันดูออกว่าใต้สิ่งปรักหักพังนี้เป็นที่ซ่อนสมบัติค่ามหาศาล
:: ก่อนเสด็จออกนอกพระนคร พระเจ้าเอกทัศทรงอวยพรให้จมื่นไวย และทรงรับสั่งฝากว่า หากจมื่นไวยยังมีชีวิตอยู่หลังการรบและพบผู้มีบุญคุณใหม่ ขอให้บอกเขาผู้นั้นด้วยว่าพระองค์โฉดเขลาทรงขอโทษที่มิอาจทรงรักษาเกียรติศักดิ์แห่งแผ่นดินไว้ได้ ป้อมมหาชัย คือ ป้อมที่ข้าศึกจะตีหักเข้ามาเป็นด่านแรกเพราะเข้าได้ง่ายกว่าด้านอื่นและขณะนี้มีข้าศึกกำลังสุมไฟใส่รากกำแพงด้านป้อมนั้นอยู่ จมื่นไวยมั่นใจ ว่าพระยาพลเทพจะต้องไปรอเปิดประตูเมืองให้พวกม่านเข้าทางด้านนั้น แต่ก่อนไปตามหาชำระแค้นพระยาพลเทพ จมื่นไวยมุ่งไปหาพระพิชิตพ่อของแสนที่ป้อมเพชรก่อน จมื่นไวยอ้างกระแสพระดำรัสของพระเจ้าเอกทัศที่ฝากฝังผู้มีบุญคุณคนใหม่กู้แผ่นดิน และบอกให้พระพิชิตรักษาชีวิตไว้เป็นกำลังสำคัญในการนี้ด้วย โดยสำทับว่าหาก พระพิชิตมิทำตามถือว่าสะบัดน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระพิชิตจึงต้องยอมรับปากจมื่นไวยสั่งว่าหากเห็นว่ากำแพงเมืองทรุดเมื่อไรให้พระพิชิตหนี้ไปสมทบกับครอบครัว รอกู้บ้านเมืองและมอบประคำพระพุทธคุณและดาบของท่านให้พระพิชิต
:: วันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุน พ.ศ. 2310 ข้าศึกระดมกำลังยิงกระหน่ำทุกด้านรอบพระนคร และเร่งสุมเพลิงคลอกรากกำแพงเมืองทุกด้าน กองกำลังรักษาเมืองรับมือข้าศึกสุดชีวิตจมื่นไวยบัญชาการรบอย่างเข้มแข็งอยู่ด้านที่กำแพงกำลังจะพัง ผู้ที่มาขัดการบัญชาการของจมื่นไวยคือพระยาพลเทพ พระยาพลเทพแต่เครื่องขุนนางชุดเข้าเฝ้าเต็มยศมารอต้อนรับทัพม่านด้วยหวังเต็มที่ที่จะได้ยกขึ้นเป็นเจ้าครองเมืองประเทศราช จมื่นไวยระเบิดความแค้นไล่ฟันพระยาพลเทพ พลเทพหูขาดไปข้างหนึ่ง หนีจมื่นไวยหัยซุนด้วยอยากรักษาชีวิตไว้ขึ้นเป็นเจ้า จมื่นไวยตามล่าไม่ลดละ
:: ประตูด้านป้อมมหาชัยถูกข้าศึกพังถล่มลงเป็นประตูแรก ข้าศึกเฮโลกันเข้าทางประตูนั้น จมื่นไวยมาเห็นพระยาพลเทพยืนปลื้มรับทัพข้าศึกเข้าเมืองอยู่ จึงโดยฟันแขนซ้ายพระยาพลเทพขาดก่อนที่พระยาพลเทพจะทันรู้ตัว และตามด้วยปลายดาบจิ้มทะลวงตาข้างหนึ่ง และสุดท้ายฟันแขนขวาขาดอีกข้าง จมื่นไวยคั่งแค้นแน่นหัวอก ไมให้พลเทพเหลือมือที่จะไปกราบไหว้แม่ทับและเจ้าผู้ครองกรุงอังวะ ไม่ให้เหลือรูปโฉมที่ผู้ใดจะยินดีมอง ข้าศึกกลุ้มรุมทำร้ายจมื่นไวย จมื่นไวยต่อสู้จนตัวตายอยู่ตรงประตูใหญ่ท่าช้างหน้าวังจันทรเกษม
:: เพลาค่ำแปดนาฬิกา วันเนาสงกรานต์ ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า พ.ศ. 2310 นั้นเอง พระนครศรีอยุธยามหาราชธานีก็สิ้นศักดิ์แห่งราชธานีลง หลังจากรวมกำลังตั้งต่อสู้ศัตรูมาได้หนึ่งปีกับสองเดือน เปลวเพลิงรุกโหมโชติช่วงแดงฉานตัดกับท้องฟ้าสีดำสนิท กลืนชีวิตกรุงศรีอยุธยาบรมราชธานีอันเคยบรมสุข เป็นหมดสิ้นเลื่อมยศ
:: เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก คนไทยก็แตกออกเป็นหมู่เป็นก๊ก ทุกก๊กล้วนแต่อยากแยกตัวไปเป็นใหญ่เป็นเจ้า ไม่มีก๊กใดเลยที่คิดจะรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น เหมือนเดิม นอกจากก๊กของพระยากำแพงเพชรก๊กเดียวเท่านั้น พระยากำแพงเพชรยึดเอาเมืองระยองเป็นที่มั่น และตั้งกองบัญชาการอยู่ที่จวนของ พระระยอง เจ้าเมือง ระยอง ซึ่งยอมเข้าเป็นพวกเพราะเห็นในความวิริยะอุตสาหะรักบ้านเมืองของพระยากำแพงเพชร ก๊กใหญี่อีกหนึ่งคือเมืองพิษณุโลกและข่าวว่าพระยาพิษณุโลกพ่อของ เรณูนวลก็ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้า ส่วนที่สวางคบุรีเป็นก๊กภิกษุทุศีล มี เจ้าพระฝาง หรือพระเรือนหรือเถนเรือนครองผ้าเหลืองตั้งตนขึ้นเป็นเจ้า ที่นครราชสีมาเป็นก๊กของกรมหมื่น เทพพิพิธ ก๊กนี้ทำประหนึ่งเป็นแผ่นดินใหญ่จะแยกตัวออกจากไทยสยามกลางเลยทีเดียว และที่ค่าโพธิ์สามต้น สุกี้ พระนายกองยังกำแหงตั้งกองรีดนาทาเร้นคนไทยอยู่ นับ เป็นอีกก๊กหนึ่ง ส่วนที่ธนบุรีคนไทยขายชาติมีเชื้อรามัญชื่อ เจ้าทองอิน ตั้งตนเป็นใหญ่รีดนาทาเร้นคนไทยไปส่งส่วยกรุงอังวะเดิมชายผู้นี้เป็นคนสามัญแต่อยากเป็นเจ้ามาก จึงไปอ้อนวอนให้สุกี้พระนายกองตั้งให้เป็นเจ้าแลกกับส่วยอันอุดมสมบูรณ์จากเมืองธนบุรี รวมขณะนั้นห้าก๊ก สี่ก็กล้วนตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าทั้งสิ้น พระยากำแพงเพชรจึงต้อง ตั้งตนเป็นเจ้าด้วย เฉลิมพระนามว่า เจ้าตาก แต่ก็ไม่ทำตนเสมอเจ้าราชตระกูลหลวง หากวางศักดิ์ตนเพียงเสมอเจ้าหัวเมืองเอกเท่านั้น ทรงตั้งแสนเป็น หลวงต่างใจ นักรบคู่พระทัย มีนายทหารเชื้อจีน พระเชียงเงิน หลวงพิชัยจัน และเชื้อแขก หลวงนายศักดิ์แขก เป็นทหารหน้ากล้าตาย และมีลูกทัพชาวญวนมาเพิ่มเติม จากนั้นจึง ทรงเริ่มรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นด้วยการเข้าตีเมืองจันทบุรีซึ่งตั้งแข็งเมืองอยู่ เพราะเจ้าเมืองคือ พระยาจันทบูร เชื่อในความเข้มแข็งของเมืองตนและได้ชุมโจร ขุนราม และ หมื่นซ่อง ซึ่งถูกพระเจ้าตากตีแตกมาจากระยองมาช่วยเป็นกำลังเพิ่ม พระเจ้าตากให้พลพรรคกินข้าวมื้อเย็นแล้วให้ทุบหม้อข้าวหม้อแก้งและเทเสบียงทิ้ง ทั้งหมด ให้ไปกินมื้อเช้าในเมืองจันท์ และทัพของพระเจ้าตากก็ตีเมืองจันท์ได้ แสนให้ลูกกองของตนไปพักผ่อนหาความสุข ส่วนตัวแสนเองปลีกไปอยู่ลำพัง คิดถึง เรณูนวลยิ่งนัก และแสนเป็นเช่นนี้มาตลอดที่ติดตามพระเจ้าตาก ไม่เคยสนใจไมตรีที่หญิงใดหยิบยื่นเสนอมาเลย
:: กองทัพพระเจ้าตากยั้งอยุ่ที่เมืองจันท์เพื่อรอสิ้นหน้ามรสุมและเพื่อสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์แสนรับหน้าที่คุมพลต่อเรือรบ และระหว่างนั้นนายสุจินดาหรือคุณเล็กก็โผล่มา แสนดีใจยิ่งนัก คุณเล็กเล่าเรื่องวันกรุงแตกด้วยความสะเทือนใจอย่างสูงสุด และเล่าความยากลำบากในการเดินทางฝ่าด่านพม่าไปราชพรีเพื่อไปติดตามหาคุณใหญ่ และคุณใหญ่ให้คุณเล็กรีบมาหาพระเจ้าตากโดยฝากดาบคร่ำทองเก่าแก่มาเป็นของคำนับ กับแหวนพลอยไพฑูรย์และพลอยบุษย์น้ำทองอีกอย่างละวง คุณใหญ่เองยังมาได้ได้เพราะภรรยาเพิ่งคลอด แต่สั่งความมาว่าเมื่อใดบุตรพอชันคอได้และภรรยาแข็งแรงพอ จะเดินทางมาสมทบทันที และสิ่งมีค่ายิ่งใหญ่ที่คุณใหญ่สั่งให้คุณเล็กไปตามหาให้เจอและนำมาส่งมอบพระเจ้าตากให้ได้คือ นางนกเอี้ยง มารดาของพระเจ้าตาก และสิ่งสุดท้ายนี้นำความโสมนัสและกำลังใจมาสู่พระเจ้าตากอย่างใหญ่หลวง
:: คุณเล็กบอกเรื่อง พระยาอนุราฐบุรี หรือ พระยานกเล็ก คนร้ายประจำเมืองชลเที่ยวปล้นจี้ผู้คนโดยอ้างว่าจะรวบรวมสมบัติรอพระเจ้าตาก พระเจ้าตากยกกองไปปราบราบคาบ พระยานกเล็กเสียชีวิตจมอยู่ก้นทะเล และลุข้างขึ้นเดือนสิบสอง กองเรือของพระเจ้าตากก็ยาตราเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยายึดเมืองธนบุรีไว้ได้ และพระเจ้าทองอินคนทรยศตายอย่างทรมาน โดยถูกเสียบประจานไว้หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก่อนถูกตัดหัว พระเจ้าตากได้คนไทยมาเพิ่มเป็นกำลังอีกมากมาย มองย่า ปลัดทัพของพวกม่านหนีไปกับเรือเร็ว คุณเล็กแน่ใจว่ามันมุ่งไปรายงานสุกี้พระนายกองนายของมันที่โพธิ์สามต้น คุณเล็กทูลพระเจ้าตากว่าควรเร่งติดตามขึ้นไป พระเจ้าตากเห็นด้วย กองทัพเรือของพระเจ้าตากยกขึ้นไปโพธิ์สามต้น ตีค่ายฝั่งตะวันออกของสุกี้พระนายกองแตก ยึดได้ปืนและดินปืนจำนวนมาก ส่วนเชลยได้แต่พวกตะพุ่นเป็นส่วนใหญ่ ตัวสุกี้และกองทัพย้ายข้ามฟากไปอยู่ค่ายด้านตะวันตกก่อนแล้ว พระเจ้าตากพักทัพและสั่งให้คุณเล็กเก็บเสบียงอาหารทั้งหมดไว้ ทรงบอกด้วยอัสสุชลคลอตาว่ารุ่งขึ้นจะเข้าเหยียบกรุงเก่า ตีค่ายสุกี้พระนายกอง และเสบียงที่สั่งเก็บนั้นเอาไว้เลี้ยงคนไทยผู้อดอยากจากสงคราม รุ่งขึ้นพระเจ้าตากเคลื่อนทัพเจ้าสู่กรุงเก่า ตีค่ายสุกี้พระนายกองแตก สุกี้พระนายกองถูกคุณเล็กฟันขาดสะพายแล่งตาย ส่วนมองย่าหนีไปได้ กองทัพทุกคนแม้แต่องค์จอมทัพน้ำตารินกันถ้วนหน้าเมื่อได้กลับมาเหยียบกรุงเก่าบ้านเกิด หากแต่เสาเรือนนั้นมิพักต้องหามอดไหม้ไปกับเพลิงที่พม่าเผากรุงสิ้น พระเจ้าตากได้พระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็กครั้งกรุงเก่า มารับใช้ด้านขนบประเพณี มีเจ้านายฝ่ายในที่ยังเหลืออยู่ร่วมงานพระเมรุ ตกค่ำพระเจ้าตากทรงพักที่พระที่นั่งทรงปืนซึ่งยังพอเหลือหลังคากันน้ำค้างได้ และมีนิมิตเกิดกับท่านคือ บุรพกษัตริย์แห่งกรุงเก่ามาชุมนุมกันไล่ท่านให้ไปแสวงหาแผ่นดินอื่นเป็นที่ตั้งหัวใจแผ่นดินอย่ามาอยู่ในแผ่นดินอันพวกท่านเหล่านั้นทรงเป็นเจ้าของ แสนเห็นว่าเมืองธนบุรีนั้นเล็กพอเหมาะและดีที่เป็นเมืองกุมทางสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำ หรือไม่ก็ไปปักหลักที่จันทบุรี พระเจ้าตากทรงเห็นชอบเมืองธนบุรี
:: ปีกุน ศักราช 2310 มหาเศวตองค์ใหม่กางกั้นลงเหนือกรุงธนบุรี และยกเมืองนั้นเป็นราชธานีของไทยสยามแทนกรุงศรีอยุธยา คุณใหญ่ได้เลื่อนเป็น พระราชรินทร์ พระตำรวจขวา คุณเล็กได้เป็น พระมหามนตรี พระตำรวจซ้าย แสนยังเป็นออกหลวงต่างใจ แสนคิดอยู่เสมอที่จะไปหาเรณูนวลและแม่ แต่ยังไม่สบโอกาส รอยู่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทำศึกทางเหนือเมื่อไร แสนจะกราบบังคมทูลอาสา แต่ก็มาถึงคราวที่แสนต้องลำบากใจที่สุดเสียก่อน พระเจ้ากรุงธนพระราชทาน พลอยแหวน ลูกสาวเจ้าเมืองจันทบูรให้แก่แสนและพระราชทานเรือนหอให้ด้วย แสนตัดสินใจที่จะขัดพระมหากรุณาธิคุณด้วยไม่อาจทรยศต่อเรณูนวลได้ แสนขอให้พระราชรินทร์ช่วยกราบบังคมทูลปฏิเสธให้พระราชรินทร์ทำตามที่แสนขอ และพระเจ้ากรุงธนก็ทรงพระเมตตาแสนยิ่งนัก มิได้เอาโทษที่แสนขัดพระประสงค์ หากแต่ไม่ทรงล้มเลิกการแต่งงานของแสน โดยทรงตรัสกึ่งท้าพนันว่าให้แสนแต่งงานเข้าหอ หากแสนได้เห็นรูปโฉมเจ้าสาวแล้วแสนยังซื่อสัตย์ต่อคำมั่นกับเรณูนวลได้ พระองค์จะทรงเรียกพระนางพระราชทานคืนเอง แสนจึงจำต้องเข้าพิธีแต่งงานกับพลอยแหวนอย่างไม่เต็มใจที่สุดหน้างอตลอดงาน จนกระทั่งวันส่งตัว แสนบอกความจริงกับพลอยแหวนทุกอย่างและบอกว่าจะนับเธอเป็นน้องสาว เรือนหอและสมบัติแต่งงานทั้งหมดยกให้เธอ แล้วแสนลงจากเรือนหอไปนอนกับออกรัก พลอยแหวนโกรธมาก เธอตั้งปณิธานว่าจะตามขัดขวางความรักของแสนกับเรณูนวลจนถึงที่สุด ไม่นานต่อมาเธอก็ถูกพระราชทานให้เป็นภรรยาขุนนางผู้ร่ำรวยมาก
:: พระตำรวจซ้ายจะขึ้นไปตีหัวเมืองเหนือซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลกพ่อของเรณูนวลปกครองอยู่และมีทีท่าว่าจะแข็งเมืองไม่เข้าด้วยพระเจ้ากรุงธน แสนอาสาเป็นกองหน้าไปดูลาดเลา เพราะอยากพบเรณูนวลมาก แสนออกความคิดว่าหน้าน้ำเช่นนี้ต้องไปเป็นเรือสลัด แสนจึงได้เป็นหัวหน้ากองเรือครั้งนี้
:: เรณูนวลรู้เรื่องกองเรือสลัดจากกองสอดแนมของเธอ จึงไปบอกออก พระพิชิตบรเทศ พ่อของแสน ซึ่งขณะนี้พักอยู่ที่บ้านของเธอและเธอยกย่องเป็นญาติสนิท และ ณ วันนี้ พระพิชิตฯ เหลือแขนขวาเพียงข้างเดียว เพราะแขนซ้ายนั้นขาดจากการทำศึกครั้งเสียกรุง เรณูนวลบอกด้วยว่า แสนได้เป็นหลวงต่างใจและแต่งงานเข้าหอไปแล้วกับเมียพระราชทาน แม่นายกลิ่นจันทน์ว่าแสนมิใช่คนใจง่ายเช่นนั้น หากพบแสนแม่นายจะถามดู เรณูนวลไม่คิดว่าแสนจะกล้าขัดพระบัญชาของพระเจ้ากรุงธน ใครๆ ต่างรู้กิตติศัพท์ดีว่าท่านทรงเด็ดขาดนัก แต่เธอก็มิได้เอ่ยปากโต้แย้งพ่อแม่ของแสนแต่อย่างใด เรณูนวลกลับไปเรือนของเธอ ปรารภกับเรียมว่าศึกครั้งนี้ต้องเกิดแน่นอน เธอรู้ว่าพ่อของเธอก็คนจริงคนหนึ่งและจะไม่มีวันยอมลงให้แก่พระเจ้ากรุงธน เพราะพ่อเธอถือว่าเมื่อสุดสิ้นพระราชวงศ์พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ผู้ใดดับร้อนของแผ่นดินได้ก็ต้องถือว่าศักดิ์เสมอกัน หากจะต้องทำศึกกันก็ต้องทำ จะได้รู้กันไปว่าฝีมือใครเยี่ยมกว่ากัน และหากเกิดศึกถึงแสนจะเป็นคนรัก เธอก็ต้องเลือกพ่อก่อนแสน แต่เธอก็พยายามจะไม่ให้คนไทยฆ่ากันเอง เรณูนวลรู้ว่า หลวงโกษา เจ้าเมืองพิจิตรจะอาสาออกศึกครั้งนี้แน่เพราะเป็นคนห้าวหาญชอบอาสาและเป็นคนที่พ่อเธอเชื่อในฝีมือ เธอจึงให้เรียมใช้มายาหญิงล่อให้หลวงโกษาบอกว่าจะเอาปืนกระบอกไหนไปออกศึก แล้วให้เรียมทำเล่ห์ขโมยปืนกระบอกนั้นมาให้เธอให้ได้ และเธอจะตั้งศูนย์ปืนเสียใหม่ ให้ยิงแล้วลูกปืนจะไม่โดนที่สำคัญตามที่เล็งไว้ ไม่แรงจนคนถูกยิงถึงตาย เรณูนวลยืนยันจะยืนหยัดอยู่ข้างพ่อเท่านั้น แต่หากแสนตายเธอก็จะตายตาม เธอไม่มีวันอยู่เข้าหอกับชายอื่นที่มิใช่แสนอย่างเด็ดขาด
:: เรียมทำการตามที่เรณูนวลสั่งสำเร็จ และด้วยมายาหญิงอันยอดเยี่ยมยังทำให้หลวงโกษาฝันเตลิดเพลิดไปไกลว่าเสร็จศึกแล้วจะขอเรียมไปเคียงข้างอีกด้วย หลวงโกษาเป็นพ่อม่ายเมียตายและเคยหวังจะได้เรณูนวล แต่เมื่อเรณูนวลไม่เล่นด้วยและยังล้อเลียนเขาอยู่บ่อย ๆ เรื่องที่เขาไม่ค่อยรู้หนังสือ หลวงโกษาจึงหักใจจากเธอ ทัพเรือของพระเจ้ากรุงธนประทะกับทัพของหลวงโกษาที่เกยชัย ฝีมือรบของฝ่ายกรุงธนนั้นเหนือกว่าฝ่ายโกษา แต่กองเรือของพระเจ้ากรุงธนเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะความชำนาญพื้นที่สู้กองทัพของหลวงโกษาไม่ได้ และเมื่อพระเจ้ากรุงธนถูกหลวงโกษาลอบยิงโดนที่ขา กองเรือของกรุงธนจึงต้องล่ากลับ และระหว่างทางกลับแสนได้พบพ่อและแม่ในเรือที่เรณูนวลให้คนลอบนำมาลอยไว้เพื่อส่งมอบพ่อแม่ของแสนคืนแสน
:: กองทัพของพระเจ้ากรุงะนกลับกรุงได้ไม่ถึงครึ่งเดือน ก็ได้ข่าวว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกเฉลิมตนขึ้นเป็นกษัตริย์ฝ่ายเมืองเหนือ แต่ชั่วภายในเดือนเดียวกันนั้นเอง กองลาดข่าวของแสนนำข่าวมาแจ้งว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกสิ้นชีพแล้วด้วยโรคฝีในลำคอ และเมืองแตกฉานซ่านเซ็นเพราะถูกเจ้าพระฝางสงฆ์ทุศีลเข้าตีเอาเป็นเมืองขึ้น และเรณูนวลหายสาบสูญไป มีผู้โจษจันกันว่าเธอกับพี่เลี้ยงและข้าคนหลบอยู่ในป่า แต่ไม่รู้ว่าที่ใด แสนร้อนใจนักอยากขึ้นไปตามหา และพอดีกับที่หน่วยลาดข่าวของบ้านพระตำรวจซ้ายขวาก็กลับมาส่งข่าวไล่ ๆ กัน บ้านของแสนและบ้านของพระตำรวจซ้ายจึงระดมกองกำลังเตรียมขึ้นเหนืออย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่ทันจะกราบบังคมทูลเพราะเจ้ากรุงธนก็มีรับสั่งให้ยกทัพไปตีพิมายเสียก่อน แสนพักใจเรื่องเรณูนวลไว้ได้ แต่หนักใจเรื่องศึกพิมายที่คนไทยจะต้องมาฆ่ากันเอง เพราะก๊กพิมายคือก๊กของกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงจากรุงเก่า และหากกรมหมื่นฯ รบแพ้ก็ต้องโดนสำเร็จโทษแน่นอน พ่อปลอบแสนให้สบายใจและบอกว่าศึกครั้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และกรมหมื่นเทพพิพิธเองนั้นก็น้ำใจโลเลไม่เคยจริงใจกับใคร
:: พ่อบอกแสนว่ามองย่าปลัดทัพตัวร้ายของอังวะหนี้ไปพึ่งใบบุญของกรมหมื่นพิพิธอยู่ และกรมหมื่นฯ ก็ทรงอุปถัมภ์เป็นอย่างดี ศึกพิมายครั้งนี้พระเจ้ากรุงธนทรงโปรดให้พ่อของแสนไปทัพด้วย โดยให้ไปทัพหลวงกับแสน ส่วนพระตำรวจซ้ายขวานั้นแยกเดินทัพไปอีกเส้นทางอันเป็นความลับ คือ เจ้าพระยาศรีสุรยวงศ์ หรือ พระพิมายเดิม พระมหามนตรี บุตรชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มองย่าและกรมหมื่นเทพพิพิธหัวหน้าก๊กซึ่งตอนแรกเสด็จหนีเข้าป่าแต่ก็ถูก ขุนชนะ กรมการเมืองพิมายตามจับมาจนได้ สามคนแรกโดยคำสั่งประหารชีวิตทันที แต่สำหรับกรมหมื่นพิพิธ พระเจ้ากรุงธนยังทรงยั้งไว้ พระเจ้ากรุงธนให้แสนเข้าเฝ้าเป็นการเฉพาะและทรงถามว่าจะจัดการกับหมื่นเทพพิพิธอย่างไร เป็นคำถามสุดแสนยากในใจแสนจะตอบ เพราะความจงรักภักดีในราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งคือไม่รู้ว่าพระเจ้ากรุงธนทรงถือเป็นโอกาสทดสอบน้ำใจของแสนว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์หรือยังฝักใฝ่อยู่กับราชวงศ์เดิมแห่งกรุงศรีฯ เพราะทรงทราบอยู่แก่ใจว่าแสนจงรักภักดีในราชวงศ์บ้านพลูหลวงยิ่งนัก เพราะราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ที่ค้ำจุนตระกูลของแสนมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
:: และยังเป็นราชวงศ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้านายพระองค์แรกของแสน และกรมหมื่นเทพพิพิธเองก็ทรงฝักใฝ่อยู่กับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือว่าที่ทรงถามจะเป็นเพราะพระเจ้ากรุงธนเองก็ทรงยากใจ เนื่องจากเคยเป็นมหาเล็กในวังหลวงแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาเช่นกัน แต่จะเป็นเพราะอะไรแสนก็ต้องตอบ คำตอบตามบทพระอัยการไม่เป็นที่ต้องพระประสงค์ พระเจ้ากรุงธนทรงบอกว่าอยากทราบความรู้สึกจากใจของแสน แสนจึงกราบทูลว่าหากกรมหมื่นฯ ยอมละขัตติยมานะก็ควรทรงชุบเลี้ยงไว้ประดับพระบารมี แต่หากไม่ทรงละขัตติยมานะ ก็ให้เป็นไปตามบุญกรรมที่ท่านทำมาเพียงนั้น พระเจ้ากรุงธนทรงในแสนเงยหน้าสบสายพระเนตร สองคนมองกันนิ่งนาน แล้วพระเจ้ากรุงธนทรงให้หาพระตำรวจซ้ายขวาเข้าเฝ้าและทรงให้พระยาธิเบศร์บดีอยู่ด้วย แล้วพระองค์มีพระดำรัสแก่ขุนพลคู่ใจทั้งสามว่า พระองค์จะทรงทำการใดแก่มิตรหรืออมิตร ย่อมมิได้เป็นตามความโกรธหรือรัก เกลียดหรือชอบเป็นส่วนตัวบุคคล พระองค์ทรงทำการอันยิ่งใหญ่สำเร็จได้ด้วยปณิธานเพื่อประโยชน์ใหญ่ ประโยชน์นั้นคือประโยชน์ของแผ่นดิน เรื่องอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ส่วนจำเพาะบุคคลเป็นเรื่องละเว้น ปัดทิ้งเสียได้ วันรุ่งขึ้นพระเจ้ากรุงธนทรงโปรดให้กรมหมื่นเทพพิพิธเข้าเฝ้าด้วยอาการอันแสนสุภาพต่อกันคือมีเพียงคนคุมแวดล้อมโดยมิมีการจองจำ แต่เป็นคราวสิ้นสุดอวสานแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงอย่างจริงแท้ กรมหมื่นฯ ไม่ทรงยอมละขัตติยมานะ ไม่ทรงนอบน้อมต่อพระเจ้ากรุงธน พระชนม์ชีพของกรมหมื่นฯ จึงสุดสิ้นเพียงวันนั้น
:: จากศึกพิมาย พระราชรินทร์พระตำรวจขวาได้เลื่อนเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ ส่วนพระตำรวจซ้ายน้องชายได้เป็น พระอนุชิตราชา ตำแหน่งจางวางพระตำรวจทั้งสองนาย และแสนได้เลื่อนเป็นพระมหามนตรี พระตำรวจซ้ายแทนพระยาอนุชิตราชา และทรงมีเมตตาให้ระบุเป็นพิเศษในสัญญาบัตรประกาศความชอบของแสนว่า แสนได้ทอดชีพอาสาติดพระองค์มาตั้งแต่ครั้งสร้างสมพระบารมีเป็นประเดิม ส่วนขุนชนะผู้ติดตามจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้นั้นทรงแต่งตั้งให้เป็น พระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา
:: เสร็จศึกและปูนบำเหน็จกันยังแทบมิทันจะหายใจก็มีพระราชโองการให้ไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เพราะ เจ้าพระยานคร เฉลิมพระยศขึ้นเป็นเจ้า มิยอมขึ้นกับกรุงธน แสนแทนจะอัดใจตายเพราะเท่ากับไม่มีโอกาสที่จะกราบบังคมทูลขอขึ้นเหนืออีกตามเคย พระยาอนุชิตราชาปลอบโยนให้แสนค่อยคลายใจว่า เมื่อใดที่พระเจ้ากรุงธนทรงโปรดให้ขึ้นไปปราบก๊กเจ้าพระฝางพระยาอนุชิตจะกราบบังคมทูลขอให้แสนไปช่วยแน่นอน และพระยาอนุชิตเชื่อว่าเรณูนวลน่าจะยังไม่เป็นอันตรายใหญ่หลวงเพราะเธอมีสายวงศาคณาญาติทางเหนือกว้างขวางอยู่
:: กองทัพของกรุงธนยกลงใต้ทั้งทางบกและทางน้ำ พระเจ้ากรุงะนเสด็จทางน้ำกับแสน ส่วนทางบกให้อัครมหาเสนาบดี เจ้าพระยาจักรีแขก (หลวงนายศักดิ์เดิม) กับ พระยาพิชัยราชา (หลวงพิชัยจีนเดิม) เป็นแม่ทัพคุมทัพไป ส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาไปปราบเขมร การตีนครศรีธรรมราชเป็นผลสำเร็จ เจ้าพระยานครหนีลงไปเมืองตานี พระเจ้ากรุงธนทรงให้แสนถือศุภอักษรของเจ้าพระยาจักรีไปเจรจากับ พระศรีสุลต่าน เจ้าเมืองตานี เพราะแสนพูดภาษามลายูได้ และทรงสั่งว่าหากเจ้าเมืองตานีจะผูกไมตรีด้วยการยกลูกสาวให้แสนก็แสนสนองไมตรีนั้น พระเจ้ากรุงธนแสดงให้เห็นว่าทรงจำได้ตลอดว่าแสนรักอยู่กับสาวชาววังลูกเจ้าเมืองเหนือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่ต่อมาสาวนั้นหายสาบสูญไปและแสนต้องอยู่เดียวดายมาจนถึงกรุงใหม่นี้แสนแทบน้ำตารินเพราะรู้สึกได้ถึงพระเมตตาอันล้นพ้นของพระองค์ที่ทรงผูกพัน ห่วงใย และเอาใจใส่แม้ในเรื่องทุกข์สุขส่วนตัวของข้าราชบริพาร และเพียงเท่านี้แสนก็ถอดหัวใจวางไว้แทบพระบาทด้วยความจงรักภักดี แต่ในเรื่องอิสตรีแสนยังตั้งใจมั่นว่าจะมิข้องแวะด้วยหญิงใดเลย จะรักษาความมั่นคงในรักของตนให้งดงามตลอดไป ให้สมกับนิยายรักของเขากับหญิงอันเป็นที่รักเป็นทีจดจำฝังพระทัยพระมหากษัตริย์
:: แสนใช้ ทนายเผื่อน ทนายหน้าหอผู้ติดตามเขา ให้ปลอมตัวเขาในการเจรจากับพระยาศรีสุลต่าน และแสนปลอมเป็นข้าถือหีบหมาก ฝ่ายพระยาศรีสุลต่านก็ใช้กลเดียวกันกับแสน ให้ข้าปลอมตัวเป็นตัวท่าน แล้วตัวท่านปลอมเป็นผู้ติดตาม แต่ต่างฝ่ายต่างรู้กลกัน เพราะต่างมองออกว่าคนไหนข้าคนไหนนาย แต่กระนั้นการเจรจาก็เป็นไปด้วยดี เพราะเจ้าเมืองตานี้ได้รู้เรื่องราวความจริงของพระเจ้ากรุงธนบุรีตรงจากปากผู้ใกล้ชิด และเมื่อเห็นว่าตนจะไม่มีโทษใดมากจากการที่ช่วยพระยานครไว้พระยาศรีสุลต่านจึงยอมรับศุภอักษรของเจ้าพระยาจักรีอย่างเป็นทางการ และเชิญแสนเข้าเมืองโดยแจ้งว่ายินยอมให้พกอาวุธได้ แสนจึงตอบด้วยไมตรีว่าจะไม่พกอาวุธ แต่ทั้งแสนและข้าติดตามก็พกเขี้ยวเล็บลับเฉพาะของช่าวท่าตะเภาแขกคือลูกดิ่งพิฆาตติดตัวไปเผื่อต้องใช้ในยามคับขัน หากพระยาศรีสุลต่านเล่นไม่ซื่อ
:: และแสนกับข้าติดตามทุกคนยังกินว่านป้องกันพิษเผื่ออาหารใส่ยาพิษอีกด้วย พระยาศรีสุลต่านตอนรับแสนอย่างสมเกียรติ และระหว่างที่เลี้ยงอาหารนั้นพระศรีสุลต่านได้ให้ การะบุหนิง หรือ ดอกแก้วลูกสาวคนเดียวมาไหว้แสน ด้วยหมายจะเอาลูกสาวผูกแสนไว้ใช้ เมื่อได้เห็นการะบุหนิงนั้นหัวใจของแสนเต้นจนแทบหลุดออกจากอก ด้วยว่าเธองามสม งามจนลบคำโบราณ และอายุก็ยังอยู่ในวัยแรกผลิคือสิบห้าปีเท่านั้นเอง พระยาศรีสุลต่านพูดเป็นนัยยกเธอให้แสน และแสนเองก็เกือบจะพลั้งปากตอบรับอยู่แล้ว แต่นามหญิงหนึ่งแวบขึ้นมานิวาสนามนั้นคือเรณูนวล แสนหักใจขาดเด็ด กล่าวถ้อยสุนทรรับดอกแก้วเป็นน้องสาว พระยาศรีสุลต่านจำตกกระไดพลอยโจนให้แสนนับพี่นับน้องตามต้องการ แต่คำลือนั้นแรงนักและลือไปถึงพระกรรณพระเจ้ากรุงธนว่าแสนแต่งงานกับนางดอกแก้วไปแล้ว แต่พระเจ้ากรุงธนไม่ทรงเชื่อ และเมื่อพระยานครเข้าเฝ้ามอบตัว คำให้การของพระยานครเรื่องแสนและดอกแก้วตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง แสนจึงรอดตัว พระเจ้ากรุงธนมิได้ลงโทษพระยานคร แต่ทรงเอาตัวไปใช้ราชการในเมืองหลวงและทรงแต่งตั้งพระหลานเธอปกครองเมืองนครฯ แทน และให้แสนอยู่ช่วยราชการ แสนจึงได้แต่นั้งมองขอบฟ้ากว้างเพื่อปลุกความหวังหใมิรู้เหือดหายว่าคงจะได้พบกับเรณูนวลเข้าสักวัน
:: แสนอยู่ทางใต้รบทัพจับศึกจนมิมีเวลานับว่าวันคืนผ่านไปนานเท่าใดแล้ว จนจัดการทางใต้เรียบร้อยราบคาบ มานับเดือนนับปีดูอีกทีก็ลุปีมะเมีย พุทธศก 2317 เข้าไปแล้ว และปีนั้นมีใบบอกด่วนให้แสนขึ้นไปช่วยราชการศึกทางเหนือ ด้วยว่าทัพ งุ่ยอะคุงหวุ่น ยกตามตีพวกมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แต่เมื่อแสนยกทัพเรือขึ้นไปถึงกรุงธนนั้น กองกำลังที่จะไปรับมือพม่ามีเพียงพอ พระเจ้ากรุงธนจึงโปรดให้แสนกลับไปประจำอยู่หัวเมืองใต้ตามเดิม และเมื่อปราบทัพพม่าครั้งนี้ได้ราบคาบและจับเอาตัวมาประจานให้ชาวเมืองดุ ขวัญของชาวไทยที่เคยกลัวพม่าก็เฟื่องฟูขึ้นมาก เมื่อบ้านเมืองดูจะสงบเรียบร้อยและว่างศึก แสนนึกจะกราบบังคมทูลขอขึ้นไปหัวเมืองเหนือ ก็พอดีมีตราเรียกทัพด่วนให้แสนขึ้นไปช่วยท่าน เจ้าพระยาสองพี่น้อง (คุณใหญ่และคุณเล็ก) รับศึกหัวเมืองเหนือ ซึ่งครั้งนี้แม่ทัพเฒ่าเชื้อพระวงศ์ระดับสูงนาม อะแซหวุ่นกี้ ผู้มีฝีมือเข้มแข็งและชั้นเชิงสูงเป็นแม่ทัพใหญ่มาเอง ตราเรียกทัพครั้งนี้สมใจแสนยิ่งนัก ท่านเจ้าพระยาสองพี่น้องตั้งค่ายอยู่ที่พิษณุโลก และรบป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง อะแซหวุ่นกี้มิอาจตีแตกได้โดยง่าย
:: จนต้องขอสงบศึกชั่วคราวและขอดูตัวแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยตามกลศึก "ชูพิษแสลง" แล้วจึงรบต่อ แต่ถึงฝ่ายไทยจะรบอย่างเข้มแข็งเพียงใด พิษณุโลกก็แตกแก่อะแซหวุ่นกี้ เพราะถูกล้อมจนขาดเสบียงอาหาร ฝ่ายไทยตัดสินใจอพยพผู้คนออกจากเมือง และเมื่อทัพไทยคุ้มกันผู้คนไปถึงแถบเมืองเพชรบูรณ์นั้น กองหลังเป็นเป็นกองเสบียงซึ่งแสนคุมอยู่ปะทะเข้ากับกองโจรของข้าศึก มีกองกำลังของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งบ่งบอกว่าเป็นชาวไทย มาร่วมช่วยตีกระหนาบกองทัพพม่าจนแตกกระเจิง แล้วกองกำลังชาวบ้านกลุ่มนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็วราวหายตัวได้ แม้แสนจะพากเพียรตามเท่าไรก็ไร้ร่องรอยให้ตามเจอ แสนสังหรณ์ยิ่งนักว่าจะเป็นกลุ่มของเรณูนวล และตั้งใจว่าจะต้องตามหากองกำลังกลุ่มนี้ให้เจอให้ได้ ข้างอะแซหวุ่นกี้เมื่อตีหักเข้าเมืองได้นั้น พิษณุโลกก็เหลือแต่เปลือกเป็นเมืองร้าง ไม่มีสิ่งใดให้พม่าเอาประโยชน์ได้เลย ข้าวปลาอาหารก็ไม่มี น้ำก็อาบกินมิได้ ด้วยว่าถูกถมและทิ้งอาจมและซากสัตว์เน่าเปลี่ยนไว้เต็มทุกแห่ง ประกอบกับมีใบบอกด่วนเรียกตัวอะแซหวุ่นกี้กลับอังวะเพราพระเจ้าอังวะสิ้นพระชน ทัพพม่าจึงยกกลับไป และไทยก็ว่าศึกลงเป็นเวลานาน แสนกราบบังคมทูลขออยู่หัวเมืองเหนือ และได้รับพระมหากรุณาให้อยู่รวบรวมผู้คนที่กระจัดพลัดพรายตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงแตกให้กลับคืนเข้าเมืองให้ได้มากที่สุด แสนจึงใช้เวลาทำการนั้นตามหาเรณูนวลไปด้วยทุกวัน โดยมีเจ้าเผื่อนเป็นผู้ติดตามแทนออกรับซึ่งเฒ่าชราเต็มที่
:: แสนตระเวนอยู่ตามหัวเมืองใหญ่น้อยทางเหนือเนิ่นนาน ข่าวคราวที่มาจากเมืองหลวงที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวล้วนเป็นข่าวมิสู้ดีว่า ท่านโทมนัสที่เมืองพิษณุโลกแตกแก่ข้าศึกจนหันไปฝักใฝ่การวิปัสสนากรรมฐานจนเห็นนิมิตต่าง ๆ และทรงคบหากับพวกอลัชชีสอพลอ ใครกล่าวโทษฟ้องใครก็ทรงจับผู้ถูกล่าวโทษเฆี่ยนหมด แล้ววันหนึ่งสายฟ้าก็ฟาดลงมากลางศรีษะแสนเมื่อได้รับใบบอกให้กลับเข้าเมืองหลวงเพราะพระเจ้ากรุงธนสวรรคาลัยแล้ว แสนถึงกับหน้ามืดเป็นลม เมื่อฟื้นจึงได้เห็นว่าผู้ถือใบบอกมาให้คือผู้ที่ชื่อว่าเป็นเลิศที่สุดในการพูดเกลี้ยกล่อม พระยาพิพัฒนโกษา หรือ หลวงสรวิชิต เดิมเมื่อครั้งตีเมืองจันทบุรี แสนได้รับรู้เรื่องราวความวุ่นวายต่าง ๆ ในเมืองหลวงจากการบอกเล่าของพระยาพิพัฒน์ และได้รู้ด้วยว่าแม้พ่อแม่ของแสนเองก็ต้องอาญาเฆียนทั้งคู่และถูกริบราชบาตรเมื่อยามที่เจ้ากรุงธนมีสติผันแปร แต่เมื่อทรงคืนสติปกติก็ทรงสั่งคืนทรัพย์สินทั้งสิ้นให้ และพระองค์ยังทรงทำการร้ายแรงอีกต่าง ๆ นานา จนเจ้าพระยาสองพี่น้องซึ่งติดรับศึกพม่าอยู่หัวเมืองจำต้องกลับเข้ากรุงมาจัดการกับพระองค์เพราะหากปล่อยไว้จนข้าศึกศัตรูรู้ไทยอาจเพลี่ยงพล้ำเสียทีอีกและอาจถึงกรุงแตกอีก แสนขอให้พระยาพิพัฒน์กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ขออยู่หัวเมืองเหนือต่อ เพราะใจยังไม่ดีนั้นอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเพราะยังไม่อยากทิ้งงานรวบรวมคนไทยที่กระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่ตามป่าให้กลับเข้าเมืองซึ่งเป็นผลสำเร็จดีขึ้นเรื่อย ๆ พระยาพิพัฒน์รับปากจะกราบบังคมทูลให้ดีที่สุด
:: เพียงสามปีที่ผลัดแผ่นดินก็มีศึกพม่าประชิดติดเมืองอีกคือศึก เจ้าตะแคงปะ ดุง เจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของพม่า ยกเข้ามาทางลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี แสนกราบเรียนให้ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกส่งบรรดาขุนหมื่นพันทนายออกไปป่าวเรียกผู้คนให้อพยพมารวมกองกันในเมืองโดยเร็วและให้ขนเสบียงมาด้วย เพื่อจะได้ไม่เหมือนครั้งที่แล้วที่ต้องทิ้งเมืองเพราะขาดเสบียงความคิดของแสนได้ผล ผู้คนหลั่งไหลเข้าเมืองทุกวัน แสนช่วยเป็นภาระคุ้มกันและจัดส่งกองเกวียนของชาวบ้านจนถึงทางเข้าเมือง และจวนเย็นวันหนึ่ง มีกองเกวียนใหญ่มากกองหนึ่งอพยพเข้ามาความที่เป็นกองใหญ่และเข้ามาตอนพลบจึงจะยังเข้าเมืองไม่ได้ แสนและกองกำลังออกไปดักตรวจตรากองเกวียนนั้นว่าจะมีผู้แปลกปลอมแฝงมาบ้างหรือไม่ ขณะเมื่อกำลังพูดจากันอยู่แสนสังเกตเห็นว่ามีม้าสองม้ารีบถอยไปแผงอยู่ด้านหลังสุดของขบวน และยิ่งได้ฟังคนนำกลุ่มพูดจาถึงวันที่เจ้าพระยาทั้งสองแตกทัพอะแซหวุ่นกี้แสนก็ยิ่งปั่นป่วนหัวใจนัก จะมองสองม้าที่ถอยไปจนสุดกู่ก็มองไม่ถนัด ได้แต่คิดว่าจะต้องค้นเอาความจริงให้ได้ และคิดว่าจะเป็นคนกลุ่มนี้เองที่มาช่วยวันแตกทัพอะแซหวุ่นกี้
:: แสนได้แต่พูดฝากไว้ในเบื้องต้นนี้ว่าอยากรู้ว่าผู้ที่มาช่วยวันแตกทัพเป็นใครแสนให้ชาวบ้านพักผ่อน ตัวเองก็ไปพักด้วย แต่จนดึกแล้วแสนก็ไม่อาจข่มตมให้หลับได้ จึงลุกออกจากที่พักเดินตรวจพลเวรยามไปเรื่อย แล้วแสนก็ต้องชะงักทันใดเมื่อได้ยินเสียงชายชาวบ้านป่าขับลำนำรักอันเป็นลำนำที่ชาวกรุงศรีฯ ขับเป็นประจำและแสนกับเรณูนวลขับสู่กันก่อนแสนจากไปสงคราม แสนคาดคั้นจนได้ความว่ามีผู้สอน แสนสั่นไปทั้งตัวด้วยแน่ใจว่าผู้สอนนั้นเป็นเรณูนวลแน่และกองเกวียนนี้ต้องเป็นของเธอ แสนคาดคั้นขาวบ้านจนในที่สุดได้พบกับเรียมพี่เลี้ยงของเรณูนวล เรียมต่อว่าต่อขานประชดประชันแสนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องได้เมียพระราชทานถึงสองคน แสนชี้แจงและสาบานจนเป็นที่พอใจของเรียม เรียมจึงชี้เกวียนที่พักของเรณูนวลให้ แสนกับเรณูนวลได้พบกัน ความรักความคิดถึงแรมปีประดั่งหลั่งไหลท่วมท้นใจ แสนรับรู้ความลำบากของเรณูนวลด้วยน้ำตา และให้คำมั่นว่าจากนี้ไปความตายเท่านั้นที่จะพรากเขาจากเรณูนวลได้ แล้สองหัวใจรักที่รอคอยกันมานานแสนนานก็ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในคืนนั้น แสนขอให้ผู้สำเร็จราบการเมืองพิษณุโลกประกอบพิธีสมรสให้ แล้วจากนั้นแสนกับเรณูนวลและกองกำลังก็ไปสมทบทัพหลวงที่ลาดหญ้า ทำศึกกับพม่าซึ่งยกเข้ามาถึงเก้าทัพ กองของแสนและเรณูนวลรบแบบกองโจรและสามารถตีพม่าแตกกระเจิงได้ชัยชนะในด้านนั้น แสนและเรณูนวลไปตนสมทบกับทัพหลวงซึ่ง พระอนุชิตราชา หรือพระราชวังบวรหรือคุณเล็กเป็นแม่ทัพ และท่านมีพระบัณฑูรให้แสนและเรณูเข้าเฝ้า ท่านตรัสว่าแสนและเรณูนวลจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวในวันที่เสร็จศึกเพี่ยงเท่านี้แสนก็ยินดีจนสะท้านไปทั้งกาย
:: ทัพไทยทำศึกกับพม่าสุดชีวิตวิญญาณ บรรดาคนไทยที่ซุ่มซ่อนอยู่ต่างก็ออกมาช่วยบ้านเมืองทำศึกจนมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อพม่า และศึกครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นแล้วบ้านเมืองสยามก็เข้าสู่ความสงบสุข ไร้ศึกจากเมืองม่านมารบกวนอีกเลยตลอดรัชกาล
ตัวละครใน "ฟ้าใหม่"
หน้า ๕๓๗ แสนรำพันถึงเรณูนวล เนื่องด้วยรักแม่เรณูจริงเกรงจะมิได้พบกันอีก
“ ป่านนี้แม่จะมองพี่จากที่ใดแม่จะแนบหลังลงกับหมอนแทนอกพี่แล้วรำลึกวันอันล่วงมาแล้วที่เราสองได้อยู่ในอ้อมกอดของกันและกันนั้นหรือไม่แลแม่จะนึกเอาวันใดข้างหน้าเล่าพี่จะร่วมเรียงเขียงหมอนเราวันนั้นอาจไม่มาถึงเลยในชีวิตนี้หรืออาจที่จะมาถึงแต่อาจเนินช้าในวันข้างหน้า”
ขุนหลวงหาวัด
มาถึงพระเจ้าอุทุมพร ตัวละครที่ชอบอีกคนหนึ่ง
หน้าที่๖๔๙ น้อยพระทัยพี่อ่อนไหวได้ง่าย จึงทรงออกผนวชเสีย
“ ท่านมิกังวลหรอก ท่านน้อยพระทัยพี่ท่านพี่ทันไม่ดี ทันสิคนดีแล้วน้อยหรือท่านมิรู้จักพี่ท่านอย่างดีบังอาจถือดาบพาดพระเพลาขู่ท่านเมื่อคราวก่อนคราวนี้ท่านท่านหงอนกันให้ปูมจารึกชั่วลูกสืบหลาน บ้านเมืองเป็นไรช่างมัน”
เจ้านายพระองค์ที่สองของแสนหลังจากที่เจ้าฟ้ากุ้งถูกลงทัณฑ์จนสิ้นพระชนม์
คุณคนเล็ก
ขี้เล่นมักหยอกกับแสนบ่อยครั้งแต่เอาการเอางาน รักชาติ ดูจากหน้า ๕๓๑ คุณคนเล็กกล่าวกับนายกองไพร่พลเมื่อพม่ายกทัพมาด่านบ้านแหลม
“มันคงเร่งไปรวมพลกับนายมันที่ตะนาวศรี อ้ายพวกไปทางบกยังคงเลื้อยล้าอยู่เรายังจะพอตามตีชิ่งเอาช้างเอาม้า ผู้คนเสบียงกลับคืนมาได้บ้างมาเป็นกำเหน็จมือพอโผล่เทือกเขาบรรทัดเข้ามาแล้วตรงนั้นทุกคนจงตรองดู เมิอคราวขุนรองปลัดชูของเราไปเสียชีวิตที่ตรงนั้นก้เสียตรงอ่าวหว้าขาวเมื่อได้ข่าวน้ำตาตก พอตกคราวนั้นยังจำได้อยู่ ก้เพลานี้มาถึงที่นี้แล้วจะรอให้มันยกเลยออกมาตามสบายหรืออย่างไร ลูกพ่อจงตรองดู เราก้มาพร้อมหน้ากันจะเอาชัยพอไปเซ่นศพขุนรองปลัดชูของเราสักสี่ห้าร้อยศพจะเป็นกระไรลูกพ่อทั้งหลายยังเห็นตามพ่อหรือหาไม่”
หน้า ๕๕๕ แสนอ่านใบบอกให้ ขุนหลวงเอกทัศน์ แสดงให้ว่า ทรงยังสนพระทัยในความเป็นอยู่เดือดร้อนของราษฎรมิใช่เพียงแค่อยู่ตามสบายพระราชหฤทัย ไม่ใส่พระทัยในปัญหาที่เกิดขึ้น
“ อ้ายจังไรจังไรกันทั้งเมืองเป็นไรมิบอกให้ให้กูรู้ เรื่องอ้ายพวกชาวบ้านระจันสู้กับอ้ายพม่ามาได้สามสี่เดือนแล้ว มันทำการได้ถึงเพียงนี้ด้วยมือเปล่า อ้ายพ่อเมิง ไหนอ้ายแสนอ้ายรัตนาธิเบศร์อยู่ไหน ไปจิกหัวมันมาที่นี้โดยเร็ว ช้าวบ้านมันมาขอปืนมามึงจะเก็บปืนมันไว้ทำไมในเมืองหลวง ไปเร่งไปกูจะรู้เรื่องนี้ให้ถึงตลอด”
เจ้านายองค์ที่สามของแสนหลังจากเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงผนวช
หน้า๕๖๒ เจ้าจอมเพ็ญ กล่าวว่ายังรักบ้านเมืองของตนอยู่แม้จะกระทำตนไม่ดีก็ตาม
“ ถึงเราเป็นหญิง เพศที่เขาว่าต่ำบวชมิได้เรียนมิได้ เรายังรักบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ธุระอะไรเราจะให้อ้ายท้าวต่างด้าวต่างแดน มาเข่นฆ่าพี่น้องเลือดเดียวกันกับเรา”
ส่วนเจ้าจอมแมนไม่มีบทบาทเท่าเจ้าจอมเพ็ญเออออตามไปหมด
ทั้งสองมีศักดิ์เป็นอาเลี้ยงของแสนเพราะแสนได้รับการถวายจากพระเจ้าเอกทัศน์เป็นบุตรบุญธรรมของ จมื่นศรีสรรักษ์ซึ่งจมื่นผู้นี้เป็นพี่ชายเจ้าจอมทั้งสอง
นอกจากนี่ยังมีเกร็ดเล็กกร็ดน้อยอีกที่ยังนำเสนอไม่หมดทั้งภาษา ประวัติศาสตร์บางเรื่องรอติดตาม
เพลงประกอบละคร
- "ฟ้าใหม่ (เพลงเร็ว)" ประพันธ์คำร้อง/ทำนอง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เรียบเรียง สุดแดน สุขเกษร
ขับร้อง ชิตพงษ์ ตรีมาศ - "ฟ้าใหม่ (เพลงช้า)" ประพันธ์คำร้อง/ทำนอง ชิตพงษ์ ตรีมาศ
เรียบเรียง ธนวัฒน์ ทองคำวรรณ
ขับร้อง ชิตพงษ์ ตรีมาศ
รางวัลที่ได้รับ
- สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2004 ครั้งที่ 3
* รางวัลผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (ณัฐวุฒิ สกิดใจ) - เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 2
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (ฟ้าใหม่)
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขานักเสดงชายทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (ณัฐวุฒิ สกิดใจ)
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงสมทบชายทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (ศตวรรษ ดุลยวิจิตร)
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาบทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (ศัลยา)
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาเพลงประกอบละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) - คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 2
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (ณัฐวุฒิ สกิดใจ)
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (ศัลยา)
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (จรูญ ธรรมศิลป์) - ท็อปอวอร์ด 2004
* เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม (จีรนันท์ มะโนแจ่ม)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org/wiki
https://writer.dek-d.com/DramaZa
http://entertain.teenee.com
http://www.bloggang.com สมาชิกหมายเลข 1532163