หนาวแล้วมีโรคอะไรที่ต้องระวังกันบ้าง

0
3478

7 โรคอันตราย ที่มาพร้อมฤดูหนาว

ลมหนาวเริ่มมาแล้วววว....❄️
เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว... นอกจากลมหนาวที่รอคอยแล้ว ยังมีสิ่งที่เราไม่ได้รอคอยแฝงมาด้วย สิ่งนั้นคือ "โรคอันตราย"ที่ต้องพึงระวัง ในช่วงที่อากาศเย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัส ทราบไหมคะว่าโรคอันตรายที่ว่า มีโรคอะไรกันบ้าง?

#โรคหัด โรคนี้เป็นโรคของเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 2 ถึง 12 ขวบ มักไม่พบในเด็กเล็กกว่า 8 เดือน เพราะมีภูมิคุ้มกันจากแม่ ติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการไอ จามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป 

โรคหัดมักเกิดระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน หากชุมชนมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด (herd immunity) สูงกว่าร้อยละ 94 ก็อาจป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ 
โรคหัด เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่ารูบีโอราไวรัส (rubeola virus) เป็นอาร์เอ็นเอไวรัสที่พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย อาการของโรคหัดคล้ายคลึงกับอาการของหวัดธรรมดา คือ มีไข้ก่อนน้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางทราบเลยว่าเด็กเป็นหัดแล้ว จนเมื่ออาการเพิ่มขึ้นมีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ เวลาโดนแสงจะแสบตา ระคายตา ทำตาหยี ไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดงไปหมด นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3 –4 วัน จึงเริ่มมีผื่นจากหลังหูลามไปยังหน้าและร่างกาย ผื่นจะมีขนาดโตขึ้นและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสังเกตจะพบว่าก่อนวันที่เด็กจะมีผื่นออกตามลำตัวจะมีตุ่มเล็กๆ ในปากตรงฟันกรามบน ซึ่งเป็นตุ่มเกิดขึ้นเฉพาะโรคหัดเท่านั้น พอผื่นออกได้ประมาณ 1-2 วัน เด็กก็จะมีอาการดีขึ้น

ปัจจุบัน โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน เป็นวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งเด็กทุกคนควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด ตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

#โรคปอดบวม หมายถึงภาวะปอดซึ่งเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ซึ่งในสภาวะที่ผิดปกติอาจเกิดจากเชื้อรา และพยาธิ เมื่อเป็นปอดบวม จะมีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และอาจถึงแก่ชีวิตได้

ปอดเป็นแหล่งที่ปราศจากเชื้อโรค อวัยวะที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อยู่ต่ำกว่ากล่องเสียงจะเป็นที่ที่เราไม่พบเชื้อโรคอยู่เลย หากปอดบวมเกิดขึ้นได้ ก็แปลว่าเราอาจสูดหายใจเอาไวรัสผ่านเข้าไปจนกระทั่งถึงเนื้อปอด หรือแบคทีเรียที่อยู่ในลำคอร่วงหล่นลงไปทำให้เกิดอาการอักเสบในเนื้อปอด ส่วนปอดบวมที่เกิดจากการที่แบคทีเรียพลัดหลงเข้าไปในกระแสเลือด แล้วลอยไปติดอยู่ในเนื้อปอดแล้วทำให้เกิดอาการอักเสบก็พบได้บ้าง แต่น้อยมาก


การที่บางคนไม่เป็นโรคปอดบวมก็เนื่องจากร่างกายของเราได้สร้างระบบป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ปอดไว้อย่างสลับซับซ้อน (ด่านกักและทำลายเชื้อโรค) ก่อนที่มันจะเข้าไปยังปอด เริ่มต้นด้วยประตูทางเข้าของทางเดินหายใจในจมูกมีขนเพื่อกรองเอาฝุ่นละออง เชื้อโรคไม่ให้พลัดหลงลงไปในทางเดินหายใจส่วนที่อยู่ลึกลงไป รอบ ๆ คอของเรามีต่อมน้ำเหลืองเรียงกันเป็นวง ทำหน้าที่เป็นป้อมยามคอยดักเอาเชื้อโรคไม่ให้รุกล้ำเข้าไป ต่อมกลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือต่อมทอนซิล นอกจากนี้ เรายังมีลิ้นปิดเปิดกล่องเสียงอันเป็นทางผ่านของทางเดินหายใจโดยอัตโนมัติ หากว่าสิ่งแปลกปลอมยังหลงเข้าไปในหลอดลมได้อีก ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาไอ เพื่อขย้อนเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ออกมานอกร่างกาย ทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับใต้กล่องเสียงลงไปจนถึงหลอดลมขนาดเล็กยังบุด้วยเซลล์ที่มีขนกวัดไปตลอดระยะทาง เซลล์พิเศษนี้มีหน้าที่พัดเอาสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กออกมา


นอกเหนือไปจากที่กล่าวมา เรายังมีทหารที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะคอยกำจัดเชื้อโรค ที่อาจจะพลัดหลงเข้าไปได้ สารจำพวกนี้เป็นโปรตีนในทางเดินหายใจส่วนบนเราจะพบ IgA อยู่หนาแน่นเป็นพิเศษ IgA มีหน้าที่ทำลายไวรัสที่จะพลัดหลงเข้าไป แล้วยังมี IgG ที่อยู่ในซีรั่มและอยู่ในทางเดินหายใจส่วนล่างทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อาจจะเข้าไปในเนื้อปอด ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเม็ดเลือดขาวบางตัว เมื่อพิจารณาจากระบบป้องกันของร่างกายทั้งหมดนี้แล้วจะเห็นได้ว่า โรคปอดบวมไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลย ในคนที่ระบบป้องกันดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

 

#ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่ เรียกว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ influenza A และ B ส่วนไวรัส influenza อีกชนิดหนึ่งคือ influenza C มีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาด จึงอาจไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่ 

ความสำคัญของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่การที่ไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางได้บ่อย บางครั้งเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก (pandemic) 

#การแพร่ระบาด มักเกิดในช่วงฤดูหนาว โดยทั่วไปทุกฤดูหนาวจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ ในแต่ละปีมีการประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ทั่วโลกสูงถึง 10-15% ของประชากรทั้งหมด 

การที่ไวรัสมีการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางนี้เนื่องจากลักษณะที่สำคัญของไวรัสชนิดนี้ที่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมที่กระจายอยู่ใน
อาร์เอ็นเอระหว่างไวรัสด้วยกันที่เอื้อให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีความสามารถแตกต่างจากเดิม และเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีนสำคัญที่เป็น เป้าหมายในการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ง่าย เมื่อลักษณะของโปรตีนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่เคย
ติดเชื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ ทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก ดังนั้นเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปครั้งหนึ่งจึงมักมีการ
ระบาดตามมาเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 

ปัจจุบัน มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ควรรับวัคซีน ได้แก่ เด็กเล็ก คนชรา แพทย์ และพยาบาลโดยต้องเข้ารับการฉีด
วัคซีนทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทำให้มีไวรัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่และร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

 

#ไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ข้อแตกต่างก็คือไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น ไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ

ความสำคัญที่ต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดานั้น ไข้หวัดใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า และโดยทั่วไปอาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดธรรมดามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อยมาก แต่ไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นปอดบวม ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยแแยกอาการไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดาได้ก็จะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น 

เชื้อหวัดเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ แบ่งเป็นกลุ่มไวรัสหลักๆ ประมาณ 9 ชนิด แต่ละชนิดยังแยกไปอีกนับสิบสายพันธุ์ รวมกันแล้วจึงมีเกิน 100 ชนิด เชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดอาการของโรคต่างกันไป ขึ้นกับสายพันธ์และภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ เช่น ไรโนไวรัส ( Rhinovirus) อาจทำให้เกิดหวัดธรรมดา คันจมูกน้ำมูกไหล ไอ จามในผู้ใหญ่ แต่เชื้อเดียวกันนี้อาจทำให้เป็นปอดอักเสบติดเชื้อ คือมีไข้ ไอหอบเหนื่อย และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในเด็กเล็กๆ เป็นต้น ไวรัสบางตัวก็ทำให้เป็นหวัดคัดจมูกธรรมดา อาจมีเจ็บคอ คออักเสบ หรืออาจมีหลอดลมอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไอมากตลอดเวลา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบด้วย ไวรัสบางชนิดเช่นเชื้อไข้หวัดใหญ่ อินฟลูเอนซ่าไวรัสบี (Influenza virus) อาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพลียลุกไม่ไหว หรืออาจมีแค่เจ็บคอมีน้ำมูกเฉยๆ ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก สำหรับผู้สูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด เนื่องจากมีเชื้อไวรัสสาเหตุมีมากชนิด มีรายงานบางชิ้นระบุว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันโรคหวัดได้ ในขณะที่ รายงานอีกหลายชิ้นระบุว่าวิตามินซีไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถทำได้คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีคุณค่า เท่านี้ก็เพียงพอต่อการป้องกันไข้หวัด

 

#โรคหัดเยอรมัน แพทย์ชาวเยอรมันเป็นผู้อธิบายว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ต่างจากหัดเป็นคนแรก จึงเรียกโรคนี้ว่า หัดเยอรมัน ส่วนในบ้านเรามีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เหือด โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะหายได้เอง โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง 

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือ หายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือหัด โดยมีระยะฟักตัวในร่างกาย 14-21 วัน

หัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้ และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด ลักษณะสำคัญคือ "ผื่น" ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นเม็ดละเอียดสีแดง มองเห็นเป็นปื้นๆ หรือจุดๆ กระจัดกระจาย เริ่มต้นขึ้นที่ใบหน้าก่อน จากนั้นจะลุกลามแผ่กระจายลงมาตามหน้าอก ลำตัว แขนขา จนกระทั่งทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น และจะหายไปภายใน 3 วัน ไร้ร่องรอยเหมือนไม่เคยมีมาก่อน ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งสังเกตพบได้ คือต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหูโต ซึ่งมักเกิดขึ้นมาก่อนมีผื่นประมาณหนึ่งอาทิตย์ แต่จะคงอยู่ต่อไปอีก ภายหลังผื่นหายไปแล้วประมาณ2 อาทิตย์

ในสตรี อาจมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหลายๆ ข้อพร้อมกันระยะเวลาที่ปวดอาจจะเป็นวันจนถึง 2 สัปดาห์ แต่มักไม่เกินหนึ่งเดือน 

อย่างไรก็ตาม #หัดเยอรมันจัดเป็นโรคอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดา หากไวรัสหัดเยอรมันเกิดขึ้นในมารดาขณะตั้งครรภ์ต่ำกว่า 3 เดือนแล้ว ทารกน้อยมีโอกาสพิการสูง และความพิการที่เกิดขึ้นรุนแรง ทารกที่เกิดมาจะตาบอด, หูหนวก, หัวใจพิการ และที่สำคัญคือ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หาก เด็กเหล่านี้คลอดออกมาแล้วไม่ตาย แต่ยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นภาระสำหรับบิดา-มารดาเป็นเวลานานนับสิบปี-ยี่สิบปี จากนั้นจึงจะเสียชีวิตไป

#การป้องกันโรคนี้ ถือว่าทำได้ง่ายเพียงแต่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันเท่านั้น และหากบังเอิญสตรีคนใดไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ในขณะตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องวิตกกังวลเพราะเท่าที่มีรายงานในโลกนี้ ไม่มีทารกรายใดเลยที่พิการด้วยวัคซีนนี้

 

#โรคไข้สุกใส โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก ระยะฟักตัวในร่างกาย 10-20 วัน

#โรคสุกใสเป็นโรคที่พบได้บ่อย ในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก พบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี

#อาการของโรค มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วัน หลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจึงพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส) และเปลี่ยนเป็นโรคสุกใสในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคสุกใสมีใช้แล้ว แต่ราคาค่อนข้างแพง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นต้น อาจรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ได้

 

#โรคอุจจาระเฉียบพลัน โรคนี้ เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและยืนยันถึงภัยอันตราย เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กยังมีอัตราที่สูง โดยคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละสามหมื่นถึงห้าหมื่นคน เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือโรตาไวรัส (Rota virus)

มักพบในเด็ก เชื้อโรคนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และมักมีอาการไข้ และอาเจียน บางรายที่เสียน้ำมากอาจช็อค และเสียชีวิต เป็นเชื้อต้นเหตุของลำไส้อักเสบรุนแรงในเด็กอ่อน และเด็กที่มีอายุ 1–3 ขวบ ช่วงที่โรตาไวรัสระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคม–กุมภาพันธ์ ของทุกปี เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายทางปาก และลงไปที่กระเพาะอาหาร และแบ่งตัวที่ลำไส้ เด็กที่ติดเชื้อ นอกจากสูญเสียน้ำ แล้วยังสูญเสียสารสำคัญที่ช่วยลำไส้ดูดซึม



ปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวิธีการใดที่สามารถกำจัดการติดเชื้อหรือการติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ การล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาด ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีระบบสุขอนามัยที่ดี มีระบบน้ำประปาที่สะอาด ก็ยังไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคตัวนี้ได้
ดร.รูธ บิชอป ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และยังเป็นผู้ค้นพบโรตาไวรัสเป็นครั้งแรกของโรค กล่าวว่า “โรตาไวรัส เป็นเชื้อที่เต็มไปด้วยปริศนา และยังไม่ทราบว่าทำไมบางคนได้รับเชื้อตัวนี้ แต่มีอาการไม่รุนแรง แต่บางคนมีอาการรุนแรง บางทีพันธุกรรมของมนุษย์ก็มีส่วน"
เมื่อเป็นโรค แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง คือให้ยาตามอาการ เช่นให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ไข้ และน้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียเกลือแร่จากการถ่ายและอาเจียน หากร่างกายมีภาวะเครียด แพทย์จะรักษาให้ความดันลดลง
ในปีพ.ศ.2541 ผู้ผลิตยารายหนึ่งผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโรตาไวรัสสำเร็จ หลังจากผ่านการทดสอบแล้วว่ามีผลป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงอนุมัติให้จำหน่ายในท้องตลาดได้ แต่วัคซีนดังกล่าวต้องถูกถอนออกจากตลาด หลังจากพบว่า ส่งผลให้เกิดอาการลำไส้กลืนกัน แม้ว่าอัตราส่วนของเด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจะมีน้อยมากก็ตาม

=====================
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑๐ กระทรวงสาธารณสุข

 

Comments

comments